เรื่องราวความรักของชายผู้ที่แต่งงานกับศิลปินสาวสวย ที่ต่อมาก็กลายเป็นสาวข้ามเพศ ที่ไม่รู้ตัวเองว่าชอบแต่งตัวแบบนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ … เรื่องราวความรักของเขาและเธอ กับเพศสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป จะทำให้ใจเธอเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ กับ The Danish Girl …
สารภาพว่า จากที่ได้อ่านเรื่องย่อของหนังเรื่องนี้ เพลงที่ลอยมาในความคิดแรก และลอยมาจากการตัดสินใจที่เข้าไปดูในโรงหนังคือ เพลง “ฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง” ของคุณแม่เจิน เจิน บุญสูงเนิน นั่นเอง >___<
จุดเริ่มต้นของความรัก
หนังกล่าวถึงความสัมพันธ์ของคู่รักคู่หนึ่ง ที่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยากันมานานหลายปี แต่แล้วเมื่อวันนึง ชายผู้ที่มั่นคงในรัก กลับถูกให้มาเป็นแบบให้กับภรรยาของตน โดยการสวมถุงน่องผู้หญิง รองเท้าบัลเลต์ และทาบชุดบัลเลต์พร้อมกับโพสท่าทางให้เหมือนผู้หญิงแท้ๆ เพื่อที่ภรรยาของตนจะได้แบบเพื่อไปวาดภาพนั่นเอง… สำหรับบทบาทการแสดงสุดพิเศษนั้น คนแรกที่ต้องพูดถึงคือ Eddie Redmayne รับบทเป็น ลิลลี่/ไอนาร์ หนุ่มหน้ามน ผู้ที่เคยได้สวมบทบาทเป็นสตีเฟ่น ฮอว์สกิ้น ซึ่งถือว่าเป็นบทที่หินที่สุดบทหนึ่งในชีวิตการเป็นนักแสดงของเขา จากบทนักวิทยาศาสตร์สุดอัจฉริยะผู้ที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ในเรื่อง The Theory of Everything แต่เมื่อมาถึงเรื่อง The Danish girl เขาก็ต้องรับบทบาทเป็นชายชาวเดนมาร์คผู้ที่สับสนในตัวเอง จนกลายเป็นผู้หญิงข้ามเพศ ต้องแต่งหน้า แต่งตัว ประหนึ่งตัวเองเป็นหญิงสาวแรกแย้ม และที่สำคัญคือ เธอต้องมีความรักที่ได้มอบให้กับเกอด้าอย่างสุดหัวใจ… โดยบทของเกอด้า นำแสดงโดย Alicia Vikander ศิลปินสาวนักวาดภาพ ผู้ที่เทิดทูนให้กับความรัก อย่างรักเดียวใจเดียว และยึดมั่นในรักของตน
บทของเกอด้านั้น Alicia ทำได้ออกมาน่าดูชม เพราะทั้งหมดหัวใจของหญิงสาวคนหนึ่งที่ทุ่มเท ยอมทำได้ทุกอย่างให้กับคนที่ตัวเองรัก โดยไม่สนใจในความเป็นเพศสภาพใหม่ของคนรักของตน… เธอรับได้ เธอยินยอม และยินดีที่จะทำให้เขามีความสุข ในบทนี้ไม่ต้องห่วงเลยว่า Alicia ทำได้แย่หรือดีแค่ไหน เรียกได้ว่าโกยมาเถอะทั้งรางวัลออสการ์ สุพรรณหงษ์ เมขลา ลูกโลกทองคำ มีอะไรนี่ก็ขอยอมบอกเลยว่า … เทหมดหน้าตักค่ะ 555 ในส่วนของ Matthias Schoenaerts ที่รับบทเป็น ฮันส์ นั่น… ชายหนุ่มผู้ที่คิดว่าเคยหลงรักลิลลี่ สาวน้อยในตัวไอนาร์นั่นเอง… ชายผู้ที่ท้ายที่สุดเหมือนจะแอบกิ๊กกับเกอด้าอยู่ หลังจากที่เธอสับสนว่า จริงๆแล้วเธอควรจะหันมาสนใจใครกันแน่ ระหว่าง ชายผู้ที่เคยรักกันอย่างสุดหัวใจแต่บัดนี้ได้กลับกลายเป็นหญิงสาว ผู้ที่จะเรียกว่า “เพื่อนสาว” กันก็ได้ กับ ชายคนใหม่ ที่เข้ามาแทรกแซงหัวใจของเธอ คอยดูแลเธอในเวลาอันบอบช้ำที่สุด… เรียกได้ว่า บีบน้ำตากันเลยทีเดียว..
จากผู้ชายสู่ผู้หญิงข้ามเพศ : ความหลากหลายทางเพศในสังคมยุโรป
ในส่วนของหนังเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของสังคมยุโรปในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากช่วงสงคราม มาเป็นช่วงแห่งการแสวงหาสิ่งบันเทิง เรียกกันง่ายๆว่ายุค Jazz age ผู้คนชอบไปเที่ยวตามไนท์คลับ ไปปาร์ตี้ และสังสรรค์ เต็มอิ่มกับศิลปะได้อย่างเต็มที่… ดังนั้น เราจะเห็นว่า เกอด้า ศิลปินสาว สามารถที่จะไปเปิดตัวผลงานด้านภาพวาดของเธอ ไปยังเมืองอันโด่งดังทางด้านศิลปะ ทั้งในเดนมาร์ค หรือในฝรั่งเศส ได้อย่างง่ายดาย…
จากที่เรารู้กันอยู่ว่าในโลกที่เราเห็นอยู่กันนั้น เพศเชิงสังคมที่เรารู้จักกันอยู่ มักจะแบ่งเพศออกเป็น 2 เพศ นั่นก็คือเพศชาย และเพศหญิง… คนเรามักสร้างมาตรฐานหรือข้อกำหนดอะไรบางอย่างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการแบ่งเพศ รวมไปถึงบทบาททางเพศที่เป็นอยู่จริง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ชายต้องแต่งงานและอยู่กินกับผู้หญิงเท่านั้น หรือความมีอำนาจในการตัดสินใจของเพศชาย เรียกกันว่า ชายเป็นใหญ่ เป็นต้น แต่ท้ายที่สุด ในโลกแห่งความเป็นจริงเพศที่เกิดขึ้น มักจะมีทั้ง เพศที่สาม สี่ ห้า หก ยาวไปเรื่อยๆ อยู่ที่คนเราจะพยายามนิยามว่าตัวเองเป็นเพศอะไร..
หนังพยายามสอดแทรกการต่อต้านความแนวความคิดในเรื่องของการแบ่งเพศเชิงสังคม แต่จริงๆแล้วในโลกใบนี้เมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา เราจะสามารถเห็นเพศเชิงสภาพแบบนี้อยู่บ่อย แม้แต่ในคลับในบาร์ หรือในตัวของลิลลี่เอง หนังเรื่องนี้ ลิลลี่ถูกปรากฎตัวออกมาด้วยวิธีการอย่างงดงาม ราวกับโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ เพราะภรรยา เกอด้า คิดว่ามันเป็นแค่เกมส์หรือเรื่องตลกฉากหนึ่งที่เข้ามาในชีวิต.. แต่เมื่อมาถึงจุดๆหนึ่ง เมื่อเกอด้า เริ่มรับไม่ได้กับเพศสภาพที่ออกมาอย่างชัดเจนในตัวของสามีของตน ไม่ว่าจะเป็นการแอบไปจูบกับชายที่มาพบกันในคลับ การพยายามหาถุงน่อง รองเท้า ชุดเดรสแบบผู้หญิงมาใส่ออกนอกบ้าน… เพศสภาพเช่นนี้กลับถูกมองในแง่ลบว่าเป็นกลุ่มคนอื่น(Other) หรือเป็นตัวประหลาดทางสังคม วิปริต หรือเบี่ยงเบน และเป็นพวกรักร่วมเพศ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า ในหนังมีฉากที่เขียนอยู่ในจดหมายทางการแพทย์ที่ไอนาร์ไปตรวจ ว่าลักษณะและบุคลิกเช่นนี้เป็น “อาการของโรคชนิดหนึ่ง”
การต่อสู้ของความรักใน The Danish Girl
หนังพยายามแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ทางความรักระหว่างผู้หญิงกับสาวข้ามเพศ(ในกรณีที่เคยแต่งงาน อยู่ด้วยกันมาก่อน) เมื่อโลกของอุดมการณ์ที่เกิดขึ้น มักจะมาในรูปแบบของหญิงและชายเท่านั้น คนที่ไม่ทำตาม มักจะถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นพวกที่ทรยศทางเพศ ตอกย้ำด้วยความที่ว่าเป็นพวกวิปริตและเบี่ยงเบนทางเพศ…
ดังนั้น เราจะเห็นได้ว่า ในหลายๆฉาก เขาและเธอ จะถูกจำกัดพื้นที่อยู่ภายใต้พื้นที่อันจำกัดในการแสดงออกทางความรัก เช่น บนเตียง ในห้องนอน ในห้องของโรงพยาบาล คือจะมีพื้นที่อันจำกัดไม่กี่ที่ เปรียบได้กับเป็นเงา เป็นซอกหลีบของการแสดงทางความรักของคนสองคนที่ต่างเพศ แต่พยายามกลายเป็นเพศสภาวะเดียวกัน
หนังเรื่องนี้ ไม่ได้พยายามต่อสู้เพื่อที่จะทำให้ เพศสภาวะของผู้หญิงข้ามเพศแบบนี้สร้างอัตลักษณ์ของตนเอง เช่น การแต่งตัวที่ผิดแปลก การใช้ภาษาที่ลึกล้ำ หรือการกรีดร้องโวยวายแบบอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจว่า ตุ๊ด เกย์ กะเทย สาวประเภทสองต้องมีลักษณะเช่นนี้…
หากแต่หนังพยายามย้อนกลับไปดูถึงภาวะของเพศสภาพ ที่เขาเพียงอยากเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ทั้งจิตใจ และร่างกาย ยอมทุกอย่างแม้กระทั่งแปลงเพศเป็นคนแรกๆของโลก ทั้งๆที่เครื่องมือทางการแพทย์ในสมัยนั้น เรียกได้ว่าทำได้ยากยิ่ง… แต่เธอก็พยายามทุกวิถีทาง เพื่อที่จะทำให้ตัวเองนั้น กลายเป็นผู้หญิงให้ได้… แต่แน่นอน ชุดของอุดมการณ์(ideology) ของสังคมยุโรปในสมัยนั้น มักจะไม่ยอมรับกับเพศทางเลือกที่เกิดขึ้นเท่าที่ควร หลายครั้งที่ถูกตราหน้าว่าเป็นคนไร้สติ วิปริต ไอนาร์ต้องรีบหนีออกจาโรงพยาบาลเพราะกลัวว่าจะถูกขัง หรือแม้แต่การถูกทำร้ายร่างกาย เพียงเพราะว่าเธอพยายามเดินหนีพวกผู้ชายที่พยายามล้อเลียนและก้าวล้ำสิทธิส่วนบุคคลของเธอ..
มุมมองด้านภาพ เสียง และการแต่งกาย
ในส่วนของคอสตูม เครื่องแต่งกาย หน้าผม ฉากประกอบหนัง ซาวนด์ คือมันดีมาก องค์ประกอบภาพเยี่ยมมากเหมือนกับหลุดเข้าไปอยู่ในโลกของภาพวาดศิลปะยุคโบราณ ในเรื่องมีการจัดภาพแบบที่เรียกกันว่า perspective view คือดูมีมิติและเข้าใจจัดวางองค์ประกอบภาพได้สมบูรณ์แบบมาก ฉากในโรงแรมที่ฝรั่งเศสก็ทำได้เก๋ไก๋ไม่เหมือนใคร ดูน่าอยู่กว่าบ้านเราซะอีก 555555 และคอสตูมที่เน้นโทนสีให้เข้ากันตลอดทั้งเรื่อง จากที่บอกว่า หนังอยู่ในช่วงยุคกลางปี 1920 ของเมืองโคเปนเฮเกน เป็นยุคที่เรียกกันว่ายุค Jazz Age หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง ผู้คนชาวบ้านร้านตลาดก็พยายามออกไปฟังเพลงแจ๊ส ไปตามไนท์คลับตามบาร์ต่างๆ ดังนั้น เสื้อผ้าที่เราจะเห็นได้บ่อยมากในหนังเรื่องนี้ก็คือชุดแบบสาว Flapper คือเป็นชุดยาวหรือเดรสสั้นแบบเรียบๆ แต่ยาวตรง บางครั้งก็จะบานพริ้วๆตรงปลายประดับด้วยมุกหรือลูกปัดเส้นยาว บางครั้งก็จะมีขนเฟอร์มาพันรอบคอ และสาวๆในยุคนั้นก็จะแต่งหน้าทาปาก คิ้วโก่ง ปากแดง ดัดผมบ็อบ ชอบดื่มเหล้า สูบไปป์เหมือนนางเอกและนักแสดงหลายคนที่เห็นกันในหนัง ประหนึ่งว่าตัวเองเป็นหลุยส์ บรู๊ค ดาราที่โด่งดังในยุคนั้นเลยแหละ ดังนั้น หลากหลายชุดดังว่าที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นชุดบัลเลต์ชุดแรกที่ทำให้ไอนาร์รู้ตัวเองว่าอยากเป็นลิลลี่ สาวสวย ชุดไปปาร์ตี้ ชุดอยู่บ้านของทั้งสอง ชุดออกงานสังคม หลากหลายชุดที่ดูยังไงก็ไม่น่าเบื่อเลย และออกจะทำให้เราตื่นเต้นด้วยซ้ำว่าซีนต่อไปเขาจะใส่ชุดอะไรออกมานะ…. ติดอยู่อย่างเดียวคือบท ที่เป็นไคลแมกซ์ของเรื่อง ดูไม่ตื่นเต้นเท่าที่ควร แต่ด้วยการแสดงของนักแสดงนำทั้งสอง ทำให้รู้ว่าไม่มีอะไรยากเกินไปสำหรับเขาทั้งสองคนเลย เพราะเขาได้นำพาบทไปถึงจุดๆหนึ่งที่มันน่าดู น่าชม น่ายกย่อง และน่ากินใจไปกับความรักที่ไม่ต้องพูดว่า “รัก” เลยก็ได้ สำหรับฉากจบ…
การนำเสนอภาพของเกอด้า ที่ตามหาสถานที่ของไอนาร์ สถานที่ๆเขาคุ้นเคย และนำผ้าพันคอ มาเป็นตัวแทนของความเป็นตัวลิลลี่ ที่พร้อมหลุดลอยไปกับสายลม เดินทางไปตามทางที่เธอควรจะอยู่ และจะเป็น… แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ เรียกได้ว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับสาวประเภทสอง ผู้หญิงข้ามเพศ เกย์ กะเทย ตุ๊ด และเพศทางเลือกทั้งหลาย ให้รับรู้และเข้าใจพวกเขาเหล่านั้นมากยิ่งขึ้นไปในสังคม ดังนั้นการยอมรับและพยายามแย่งชิงพื้นที่นั้น บางครั้ง เราเองก็ต้องยอมรับว่า มันเป็นเพียงแค่ภาพลวงหลอกตาที่พยายามฉายให้เห็นในสื่อต่างๆ แต่จริงๆแล้วมันก็มีอยู่ในสังคม เพียงแต่เราต้องรู้จัก รับรู้ และเรียนรู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง…
คะแนนสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ขอให้อยู่ที่ 8.5/10 นะคะ เป็นหนังที่ควรค่าเหมาะแก่การเข้าไปดูในโรงเป็นอย่างยิ่ง
Leave a Review