“แนนโน๊ะเองค่ะ” คำพิพากษาจากใคร ตัวเอง สังคม หรือคนรอบข้าง?!?
.
ว่ากันด้วยซีรีส์เรื่อง “เด็กใหม่ Season 2” จากคำบอกเล่าในออนไลน์ที่มีทั้งด้านดี และไม่ดี… วันนี้ขอมาวิจารณ์ซีรีส์เรื่องนี้ในมุมมองของตัวเจลเสียหน่อย…
.
ก่อนอื่นคือได้มีโอกาสดูตั้งแต่วันแรกที่เข้า Netflix แล้วล่ะ จะด้วยความอยากหรือเปล่านั้นไม่แน่ใจ เพราะ Season แรกเราก็ดูนะ พอมา Season ก็เลยต้องอ่ะ ตามติดสักหน่อยแล้วกัน ดูภายในวันเดียว จบทั้ง 8 EP. เลย และที่สำคัญ เรามองว่า Season นี้ ค่อนข้าง “แบก” บทมาหนักมาก เพราะใน Season แรก ทำได้ค่อนข้างโอเค จุดประกายให้คนดู รู้จักกับความแปลกใหม่ของตัวละครลึกลับแบบนี้ ซึ่งก็ทำให้เกิดการ “คาดหวัง” กับซีซั่นนี้เอาไว้อยู่ค่อนข้างสูง
.
เรื่องราวของ “แนนโน๊ะ” ที่ถูกนำมาเล่าขาน และตีความว่าเป็นหญิงสาวจากดินแดนอะไรสักอย่าง บ้างก็ว่าเป็น “ธิดาซาตาน” เป็นตัวแทนของ “งู” ในสวนสวรรค์ของอดัมและอีฟ ที่จะล่อให้ผู้คน หลงติดกับไปกับความดี ความเลว และเผยตัวตนอันแท้จริงออกมา
.
ขอเล่าเฉพาะในซีซั่นนี้ก่อนแล้วกัน แยกเป็นไปตามอีพีเนอะ เพราะเส้นเรื่องในแต่ละอีพีค่อนข้างแตกต่างกันไป มีผู้กำกับที่แตกต่างกัน และมีจุดเชื่อมโยงบางอย่างที่ซีรีส์พยายามผูกเอาไว้ จะดีหรือไม่ ลองอ่านกัน….
.
== บอกก่อนนะ รีวิวนี้มีสปอยจ้า ==
.
👉 เริ่มที่ EP แรกกันก่อน กับตอนที่ชื่อว่า นักล่าแต้ม (Pregnant) เรื่องราวของ “นะนาย” หนุ่มเพลย์บอย ที่ชอบล่าแต้มสาวๆ ในโรงเรียน ประเด็นบทของเรื่องนี้ คงอยากหยิบยกประเด็นสังคมในเรื่องของการ “ท้องในวัยเรียน” ของหญิงสาวในยุคนี้ ตัวนักแสดงในอีพีนี้ อย่าง “เจมส์-ธีรดนย์” ที่เล่นได้ดีมาก ยอมรับเลยว่าเป็นบุคลิคเฉพาะตัวที่เจมส์สื่อออกมาให้คนดูได้เห็นอย่างชัดเจน
.
ตัวหนังเกริ่นมาดีในแง่ของการโยงใยเรื่องวัฒนธรรม “ชายเป็นใหญ่” ที่ฝังลึกในสังคมไทยมานาน แต่สิ่งที่ดูล้ำไปนิด ก็คือความแฟนตาซีของเส้นเรื่อง ที่บอกว่า “ผู้ชายกลับท้องได้” และแน่นอน มันดูล้ำเกินในความเป็นจริง พยายามใส่ความ Surreal เข้าไป แต่ดันขาดความต่อเนื่องบางสิ่งบางตอนในเนื้อเรื่อง ดูไม่เมกเซ้นต์เท่าไหร่ อาจจะเป็นเพราะคนเขียนบทหรือผู้กำกับจงใจให้เป็นแบบนั้น แต่สุดท้ายเราก็ต้องกลับมามองว่า อีพีนี้สื่ออะไรให้กับสังคมได้บ้าง?
.
อย่างแรกเลย คือพยายามเป็นผู้ตัดสินสังคม ดีคือดี ชั่วคือชั่ว “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นต้องคืนสนอง” แบบที่หลาย ๆ คนวิจารณ์ว่าเหมือน “ฟ้ามีตา” เวอร์ชั่นเน็ตฟลิกซ์…. ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความดี ความเลว วัดกันที่ตรงไหน? ไม่มีใครบอกได้ ถูกไหม? … แต่อีพีนี้ ค่อนข้างเซนซิทีฟในเรื่องของ “การทำแท้ง” เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่าใครจะท้องกับใคร.. ส่วนตัวเรามองว่า มันเป็นสิทธิของแต่ละคน อย่าเอากรอบของสังคม “ไทย” มาวัดว่า การทำแท้ง คือเรื่องที่บาป และท้ายที่สุด ไม่ว่าจะทำแบบไหน มันก็ถูกตัดสินไปแล้วนั่นเอง … และมันอาจจะสามารถทำได้ Deep กว่านั้น ถ้าอยากยกปัญหาสังคมนี้มาบอกเล่า เช่น เอาประเด็น “กฎหมายการทำแท้ง” เล่าถึงสิทธิเนื้อตัวร่างกาย ภายใต้สังคม ที่เต็มไปด้วย “ศีลธรรม” …ซีรีส์พยายามโยงตัดจบแค่ “เธอเคยทำคนนี้ท้อง เธอต้องรับกรรมด้วยการท้องบ้างสิ” และไม่ได้สร้างแง่คิดอะไรเพิ่มเติม เพราะท้ายที่สุด ผู้ชายก็ไม่สามารถท้องและมีความรู้สึกแบบนั้นเหมือนผู้หญิงได้ เพราะมีปัจจัยหลายสิ่งหลายอย่างประกอบกัน ยิ่งดูยิ่งทำให้เหมือน “ผู้หญิง” ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นตัวค้ำยันมาตรฐานทางศีลธรรม และไม่ได้ถูกแก้ในมุมอื่นอีกเลย
.
รวมไปถึงมีการเอาประเด็น “ชายเป็นใหญ่” มาส่งต่อในเรื่องการเหยียดเพศต่างๆ เช่น “ตุ๊ด” “เกย์” “ไปใส่กระโปรงไป” เป็นต้น แต่เรื่องนี้ไม่ติด เพราะสะท้อนสังคมได้พอสมควร
.
ส่วนเรื่องของ แสง สี มุมกล้องที่พยายามทำแบบ HandHeld ดูมูฟเม้นไปกับตัวละคร และส่งต่อความสับสนของตัวละครตลอดเวลา ก็ทำให้รู้สึกระทึกใจได้ค่อนข้างดี แต่ดูแล้วไม่เวียนหัว การตัดต่อ เทคนิค ทำได้ดีเยี่ยม ปรบมือให้ค่ะ 🙏🏽
👉 มาถีงอีพีที่ 2 กับ True Love อีพีนี้เล่นกันเรื่องโรงเรียนหญิงล้วน “ทิพย์นารีวิทยา” ที่ถูกกลายมาเป็นโรงเรียนสหฯ คือมี ชายและหญิง อยู่ด้วยกัน ซึ่งตัวนี่ก็เติบโตมาในสังคมแบบนั้น…. เปิดตัวมาด้วยคำขวัญของโรงเรียนที่ว่า “กุลสตรีไทย คือ สมบัติของชาติ”
.
แต่ประเด็นคือ อีพีนี้ ก็ถูกตีความในแง่มุมผู้หญิงเสียเยอะ แถมยังเอาความเป็น LQBTQ+ แบบหญิงรักหญิง หรือไม่ว่าจะเป็นความรักชนิดไหน แบบไหนก็รักได้เช่นกัน ….แต่ส่วนตัวมองว่าบทค่อนข้างหลวมๆไปนิดนึง ดูเป็นอีพีที่น่าเบื่อหน่อยๆ แต่ก็ประทับใจในการแสดงของ พี่ต่าย เพ็ญพักตร์ ที่เล่นเป็นครูนฤมล ครูฝ่ายปกครองได้ดี มาตรฐานการแสดงคือต้องให้นะผู้หญิงคนนี้
.
เนื้อเรื่องในตอนนี้สอดแทรก ดอกไม้ชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า ดอกแดฟโฟดิล (Deffodil) หรือดอกดารารัตน์ ที่ถูกนำมาใช้เป็นชื่อในแอพลิเคชั่น และพูดคุยกับคุณครูฝ่ายปกครอง (ซึ่งก็คือ ‘แจกันว่าง’) กับดอกแดฟโฟดิลดอกนั้น …โดย ดอกแดฟโฟดิล ก็คือ ดอกไม้ที่ในหลวง ร.9 ทรงโปรดและมอบให้กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เมื่อครั้งยังไม่ได้ราชาภิเษกสมรส และความหมายของดอกไม้ชนิดนี้ก็คือนิยมใช้มอบให้แก่คนที่เรารัก เพื่อเป็นการบอกว่า ไม่เคยต้องการสิ่งใดตอบแทน และยังหมายถึง เกียรติยศ ความกล้าหาญ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความหวังอีกด้วย
.
บทของครูฝ่ายปกครองที่คร่ำครึ ไม่เข้าใจโลกสมัยใหม่ ที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ปมในอดีตที่ครูคนนี้ต้องการปกป้องเด็กสาวจากเด็กผู้ชาย ทำให้แนนโน๊ะ ต้องมาจัดการ เพื่อให้โรงเรียนดีขึ้น? เหรอ? ยังไงอ่ะ “ความยุติธรรม” ที่พยายามปูมาตั้งแต่ Season แรกมันหายไปหมด …อย่างที่บอกไป บทดูหลวมไปหน่อยนั่นแหละ มีความคอมมาดี้นิดๆ ใส่มุกทั่ว ๆ ที่คนชอบเล่นกัน แบบ “ขอบคุณ” “ชอบคุณ”, “ขอนมหน่อย” มันอาจจะดูไม่แปลก แต่มุกพวกนี้มันทำให้ซีรีส์ดูฝืดไปหน่อยในความเห็นของเรา และเนื้อเรื่องพยายามดึงดราม่านิดๆ โดยการโยงไปถึงหญิงสาวที่ท้องก่อนเรียนจบ และสุดท้ายก็เสียชีวิต ซึ่งก็คือเพื่อนของครูนฤมลนั่นเอง ซึ่งอาจจะไปโยงได้กับอีพีแรกในเรื่องท้องก่อนแต่ง หรือท้องในวัยเรียนได้ แต่ดูไม่เข้ากับวิถีของครูนฤมล ที่เนื้อเรื่องพยายามพลิกในช่วงท้าย เหมือนจะไคลแม็กซ์ แต่ก็เดาทางออกได้ไม่ยากตั้งแต่แรกเหมือนกัน
.
ในเรื่องของภาพนั้น ทำได้ดีที่พยายามสร้างฉาก Long Take ขึ้นมา ดูประติดประต่อได้ดี และดูทำยากมากๆในแง่ของการแสดง …แต่สิ่งหนึ่งที่แอบขัดใจนิดๆก็คือการเกรดสี คือจริงๆมันสวยนั่นแหละ แต่โดยตัวบทมันค่อนข้างสมัยใหม่ มีแอพลิเคชั่นใหม่ๆ มีการใช้มือถือ เล่นเน็ตแบบปัจจุบัน แต่เกรดสีโทนเหลืองเขียวให้ดูย้อนยุคไปเหมือนเมื่อประมาณ 40-50 ปีก่อน มันดูขัดๆนิดหน่อย … อีกเรื่องก็คือ มีการ Educate คนดูนิดนึงที่ว่า “ช็อกโกแลต” เนี่ย มีผลต่อปฏิกิริยาความรู้สึก กระตุ้นความต้องการทางเพศ ได้มากขึ้น อื้มมมมมมมม นะ… ส่วนตอบจบก็ทำได้แบบ “อิหยังวะ” จบแล้วหรอ ตอนแรกว่าจะไม่ดูต่อ แต่ก็อ่ะ อย่าเพิ่งตัดสินอะไรจากสิ่งที่เราเห็นแค่ด้านเดียว จึงดูต่อไปให้จบซีซั่น
.
อีพีนี้ได้ เอส คมกฤษ ตรีวิมล ผู้กำกับชื่อดังจากหลายๆเรื่อง เช่น แฟนฉัน, เพื่อนสนิท, หนูหิ่น, สายลับจับบ้านเล็ก มาเป็นผู้กำกับในอีพีนี้
.
และอีพีนี้เอง ที่เกิดการปรากฎตัวของ หญิงสาวโบว์แดงแสลงใจ “ยูริ” ในตอนท้ายเรื่อง
👉 มาต่อกันที่ EP. ที่ 3 มินนี่ 4 ศพ (Minnie and the Four Bodies) เรื่องนี้จากที่ดูแล้ว น่าจะหยิบยกประเด็นสังคมจ๋าๆเลย ในเรื่องของ ชนแล้วไม่รับผิดชอบ ที่เคยมีกรณีหนึ่งในเมืองไทย ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดังมากๆ อีพีนี้ได้ แพทริเซีย กู๊ด มารับบทหญิงสาวที่บ้านรวย เอาแต่ใจ ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และคอยใช้แต่เงินในการแก้ปัญหา
.
อีพีนี้เมคอัพและพร็อบเอยใดๆ ค่อนข้างจัดเต็มมากๆ เก่งมากด้วยอันนี้ยอมรับ เพราะดูสยดสยอง ให้ฟีลลิ่งหนังผีหลอนๆไปเลย การเลือกเพลงในเรื่องก็ดูเจ๋งดี ใช้เพลงบรรเลงเปียโนของ “โชแปง” อย่างเพลง Fantaisie-Impromptu #C ทำให้ดูตื่นเต้นและฟังดูหรูเข้ากับเนื้อเรื่องด้วย
.
แต่อย่างที่บอกไป การหยิบยกประเด็นสังคมที่เอามาใส่ในเนื้อเรื่องนั้น ค่อนข้างดู Judge ไปหน่อย ก็คงให้ฟิลลิ่งเหมือน EP แรก ที่พยายามบอกว่า “กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นต้องคืนสนอง” และถูกตัดสินโดย “แนนโน๊ะ” และ “ยูริ” ที่ถูกปรากฎตัวเข้ามาในอีพีนี้ เหมือนพยายามสอดแทรกก่อนว่า ยูริ นี่ ไม่ธรรมดาแน่นอน
.
ส่วนตัวมองว่า การนำเสนอที่ค่อนข้างดุดัน น่ากลัว หลอน และบทของมินนี่ ที่เล่นออกมาได้ดีเลย หลังจากที่เห็นแต่บทนางเอกมาเนิ่นนาน …แต่เรื่องนี้เธอกลับเล่นได้เข้าถึงความหวาดผวาของการเผชิญหน้ากับเหล่าวิญญาณต่าง ๆ รอบตัว และความดาร์กของคนที่เล่นเป็นพ่อของมินนี่ ส่วนตัวมองว่าเล่นได้เข้าถึงบทบาทมาก
.
มาในเรื่องของบทกันบ้าง ตอนนี้ใส่ความหลอนผีมากกว่าตอนอื่นๆ บอกเลยว่าตอนนี้มีฉากน่ากลัวที่สุดแล้วในซีซั่นนี้ และดูตอกย้ำในเรื่องของบทลงโทษของมินนี่ที่ดูน่าสยดสยองเกินไป และการทำชั่วเธอต้องได้รับผลตอบแทนแบบชั่วร้ายกลับคืนบ้าง มันดูเป็นการ Judge ในแง่ความสะใจของแนนโน๊ะและยูริ มากเกินไปกว่าผลกรรมที่การเกิดขึ้นกับตัวละคร… และมีฉากก่อนที่มินนี่กำลังจะไปที่ศาลกับพ่อแม่…. มีการเอารูปของ “เทพีเมธิส” (Lady Justice) สัญลักษณ์แห่งความยุติธรรม ที่เป็นรูปหญิงสาวมีผ้าปิดตา มือข้างหนึ่งถือดาบ และอีกข้างถือตราชั่ง เหมือนเป็นผู้ที่กำลังจะมาตัดสินมินนี่นั่นเอง
.
… คือซีรีส์ก็เอาบทของ พ่อแม่ของตัวละครที่ถูกรถชน(เป็นผู้ถูกกระทำ) ที่เกิดความเกลียดชังคนที่ทำร้ายลูกตัวเอง รวมไปถึงการโดนย่ำยีจากชายหนุ่มกำยำที่ดูโหดร้ายทารุณกับมินนี่มาก เปรียบเสมือน “ยมทูต” ที่ต้องจัดการบาปของมินนี่ให้หมดไป รวมทั้งจะเห็นได้ว่า ตัวเรื่องได้เอาบทลงโทษจาก “อินเตอร์เน็ต” มาใช้เป็นเครื่องมือในการ “ลงโทษ” มินนี่ ซึ่งซีรีส์พยายามจะฉีกในตอนท้ายเรื่องเพื่อบอกว่า เนี่ย “สังคม” เป็นคนลงโทษเธอนะ ไม่ใช่ฉัน(แนนโน๊ะ) ฉันเป็นแค่ “ยมทูต” ที่มาสื่อกับเธอเท่านั้น ให้สังคมลงโทษเธอเอง แต่มันก็ดูค่อนข้างโหดไปมากนั่นแหละ ดูแนนโน๊ะสะใจคนเดียวมากกว่า
.
และสิ่งหนึ่งที่อีพีนี้สะท้อนให้เห็นมาก ๆ คือ ในสังคมที่เต็มไปด้วย “ความอยุติธรรม” …. “เงิน” มีอำนาจมากขนาดที่สามารถทำให้กฎหมายกลายเป็นเรื่อง “กล้วยๆ” ได้
.
ส่วนในเรื่องของมุมกล้อง ฉาก สี การตัดต่อ เยี่ยมมากค่ะ ชอบ เหมือนกำลังดูหนังดีๆเรื่องหนึ่ง
.
อีพีนี้และอีพีแรกได้ ปกป้อง-ไพรัช คุ้มวัน ผู้กำกับภาพยนตร์อย่างเรื่องรักจัดหนัก และเป็นผู้กำกับภาพในเรื่อง Mary is Happy, Mary is Happy มาเป็นผู้กำกับ
👉 EP. 4 กำเนิดยูริ (Yuri) อีพีนี้เป็นอีพีที่กล่าวถึงเรื่อง “มิตรภาพ” ต่างชนชั้น… ราคาของมิตรภาพที่เกิดขึ้น สอดแทรกการเข้ามาของ “ยูริ” ที่บอกว่า เธอคือ ผู้หญิงที่ธรรมดาเอามากๆ เป็นแค่คนนึงที่ถูกโดนกระทำจากสังคมที่เธออยู่ และ แนนโน๊ะ ก็เข้าไปเป็นหนึ่งในกลุ่มเพื่อนของแก๊งค์นี้
.
ตอนนี้หลักๆแล้ว เนื้อหาคงจะบอกถึงว่ายูริเป็นใคร มาจากที่ไหน ส่วนตัวมองว่าเป็นตอนที่หักมุมได้พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างตัวตนของสองสาว นาน่า กับ ทับทิม ชาวมีนส์เกิร์ล ที่ใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือในการสร้างความร่ำรวยและข่มขู่คนอื่น แบล็กเมล์ผู้คนไปเรื่อย สร้างชนชั้นที่ชัดเจน …อีพีนี้ค่อนข้างโหดร้ายในแง่ของความรู้สึก แต่คงสะท้อนสังคมที่ว่ามันมีเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นอยู่จริง มองให้เห็นแล้วว่า “ไม่มีสัจจะในหมู่โจร”
.
หากใครได้ดูจะรู้ว่า “ยูริ” ได้รับ “เลือด” ที่ถ่ายทอดมาจาก “แนนโน๊ะ” เพราะเลือดได้เข้าไปในปากของยูริ ตอนที่แนนโน๊ะถูกฆ่า(แน่นอน แนนโน๊ะเป็นมอมตะ?) ส่วนตัวมองว่า ยูริ คือตัวละครที่แนนโน๊ะสร้างขึ้น เพื่อสร้างตัวตนในอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะจริง ๆ แล้ว แนนโน๊ะเองก็อยากรู้ว่า หากมีสิ่งใดก็ตาม มีพลังที่เกิดขึ้นคล้ายๆตัวเอง มันจะเป็นยังไงกัน.. มองได้จากสายตาตอนที่แนนโน๊ะไปสัมผัสกับยูริที่บ้าน ยูริซื้อมือถือใหม่มาให้แม่ แนนโน๊ะมองสองแม่ลูก และสิ่งหนึ่งที่ยูริมี ก็คือ “ความรัก” รักของแม่ลูก แต่ แนนโน๊ะ ไม่มี? …และคำที่ยูริบอกกับแนนโน๊ะก็คือ “ถ้าวันนึงเราเกิดรวยขึ้นมา รวยมากกว่าพวกเขา เราจะลองกลับมาทำแบบนั้นกับพวกเขาดูบ้าง” นี่คือความคั่งแค้นใจที่ยูริมีในตอนนั้น.. และโดยพื้นฐานของยูริแล้วนั้น นางเป็นคนที่มีความริษยา อยู่ก่อนแล้ว และใช้ความอาฆาต ความแค้น มาใช้ตัดสินผู้คน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาจากพื้นฐานของตัวยูริเองที่เป็น “มนุษย์” มาก่อน พอมีอำนาจมากขึ้น ก็อยากจะล้างแค้น หรือสร้าง “บทลงโทษ” ให้กับคนอื่น ๆ หรือไม่ก็พยายามชักจูงให้เหยื่อเป็นคนล้างแค้นแทนตัวเอง และจบลงด้วยการฆ่าแบบ “ทื่อ ๆ ” ไม่เหมือน แนนโน๊ะ ที่จะทำให้เหยื่อเป็นผู้เลือก และเป็นผู้ตัดสินใจมากกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อเหตุการณ์ต่อ ๆ ไปเช่นกัน
.
หากมองฉาก “ห้องข่มขืน” ของตัวละคร ส่วนตัวมองว่าค่อนข้างดาร์กและหดหู่มาก และสะท้อนสังคม และมองว่าเป็นอีพีที่ดี อีพีหนึ่งในซีซั่นนี้เลยนะ
.
มาที่การแสดงของนาน่า(เอมี่ ทสร กลิ่นเนียม)และทับทิม(ดรีม อภิชญา พานิชตระกูล) โอเค เล่นได้น่าหมั่นไส้จริงๆแหละ สายตาต่างๆเล่นออกมาได้มีความเป็นธรรมชาติ แสงในเรื่องสวย ภาพตัดต่อดี แต่เสียงของแนนโน๊ะในอีพีนี้ก็เป็นที่กล่าวขานเช่นกัน และได้ โดม-สิทธิศิริ มงคลศิริ ผู้กำกับจาก แสงกระสือ มาเป็นผู้กำกับในอีพีนี้
👉 ต่อกันด้วย EP.5 รับน้อง (SOTUS) อีพีนี้ได้ เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ มารับบท เค รุ่นพี่สุดโหด หัวหน้าพี่ว้ากในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เอาเรื่องของการแสดง ถ้าในซีซั่นเปรียบตัวละครทั้งหมดที่มี ส่วนตัวให้เอมเลยนะ คือเล่นได้ดีมาก มากแบบ มากๆ ….อย่างแรกเลยคือเข้าถึงบทของรุ่นพี่ที่คลั่งระบบโซตัสในประเพณีรับน้อง อย่างที่สองเข้าถึงบทของคนที่โดนกระทำ เล่นเป็นหมา เล่นเป็นเหยื่อที่อยู่ภายใต้คำบังคับบัญชาของรุ่นพี่
.
ส่วนในเรื่องของบท ส่วนตัวมองว่าไม่ค่อยมีอะไรหวือหวามากนั้น พล็อตเรื่องดูเดาได้ตลอดทาง แต่แอบหดหู่ในตอนที่ถูกขังอยู่ในกรง และตอนที่ เค โดนเล่นงานในท้ายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การทำร้ายจากเพื่อนๆ คือมันดูโหดไป(ป่าววะ) และบทที่เอากระแสสังคมในเรื่องระบบ โซตัส ที่ไม่ควรมีแล้วในสังคมยุคนี้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเลยด้วยซ้ำ รุ่นพี่ไม่ใช่ผู้ที่สามารถบงการชีวิตใครก็ได้ มารับน้องแบบโหดๆเพื่อที่จะให้น้องๆเข้ากลุ่ม
.
เรื่องราวอีกสามปีต่อมา เคย้ายไปเรียนมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใหม่ โดยเข้าไปอยู่ในฐานะรุ่นน้อง แนนโน๊ะได้มาปรากฎตัวในฐานะของรุ่นพี่ ซึ่งจริงๆ เคคิดว่าแนนโน๊ะตายไปแล้วในตอนแรก แต่นางกลับมาเพื่อแก้แค้นในสิ่งที่เขากระทำ แต่อย่าลืมว่า มีภาพ Flash Back ไปยังตอนที่เคก็เคยโดนกระทำในฐานะรุ่นน้องแต่ก่อน เคถูกหล่อหลอมด้วยความทุกข์จากระบบการรับน้อง และเขาก็มากลายเป็นรุ่นพี่ และกลับมาเป็นรุ่นน้องอีกที ส่วนตัวมองว่า มันก็แอบย้อนแย้งและโหดร้ายกับเคไปหน่อยในบทลงโทษตอนท้าย เพราะมันดูเป็น “ฟ้ามีตา” “กรรมใดใครก่อ” ใครทำแบบนั้น ต้องโดนลงโทษแบบนั้นสิ ดูเป็นการ judge แบบทื่อๆให้กับตัวละครไปนิด แต่ยอมรับว่า เค และ แนนโน๊ะ แสดงได้ถึงใจมาก มีซีนเอารองเท้าไปปิดปากแนนโน๊ะด้วย โครตเฟี้ยวเลย
.
อีกเรื่องที่ดูเป็น Talk of the town ก็คือเพลงรับน้อง เนื้อเพลงสันทนาการที่ฟังแล้วหดหู่มากเช่นกัน โยงนิดๆไปกับอีพีก่อน แต่สิ่งที่น่าเกลียดยิ่งกว่า คือมีเพลงนั้นอยู่จริงๆ ในพิธีรับน้องจริงๆในสังคมนี้ เฮ้อ…
.
อีพีนี้ ได้ เอส-คมกฤษ ตรีวิมล จากผู้กำกับในอีพีสอง รับบทเป็นผู้กำกับอีพีเช่นกัน
👉 EP. ที่ 6 ห้องสำนึกตน (Liberation) เป็นอีพีที่ชอบมากในแง่ของ แสง สี เสียง และโปรดักชั่น เรียกว่ากำลังดูงานอาร์ตชิ้นนึงเลยทีเดียว
.
เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนพันธนะวิทยา โรงเรียนแห่งหนึ่งที่มีกฎระเบียบและข้อบังคับที่เข้มงวด ส่วนตัวมองว่ามันแฝงปัญหาสังคมได้ถึงระดับการเมือง ระดับประเทศเลยหากเทียบกันตรงๆ ซีรีส์เริ่มด้วยภาพขาวดำแบบโบราณ บ่งบอกว่านี่มันคือโลกยุคเก่า โบราณ คร่ำครึ และล้าสมัย ครูบีกำลังสองนักเรียนด้วยเรื่อง การปฎิวัติฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1789 โครตจะย้อนแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนเลย เพราะ ปีปฎิวัติฝรั่งเศสนั้น ก็คือระบอบเก่าได้ถูกล้มล้างเพื่อสนับสนุนระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นที่ว่าด้วยสร้างพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมสมัยใหม่ และกฎระเบียบที่เข้มงวดของโรงเรียนพันธนะวิทยา ได้ส่งต่อกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2435 ซึ่งหากค้นพบดีๆ จะรู้เลยว่าเป็นปีแรกที่ก่อตั้งกระทรวงธรรมการ(หรือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน) หรือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นั่นเอง
.
เด็กใหม่อย่างแนนโน๊ะ คือตัวละครที่เปรียบให้เห็นถึงคนรุ่นใหม่ ที่อยากจะปรับเปลี่ยนกฎ และมองว่ากฎพวกนี้มันเชย และล้าสมัยไปแล้ว ภาพของแนนโน๊ะที่เผากฎของโรงเรียนกลางสนามหญ้า บอกว่าแนนโน๊ะ คือผู้ที่จะมาทำลายกฎเหล่านี้ต่างๆ ด้วยตัวเอง
ตอนนี้สอดแทรกภาพของครูใหญ่ ที่นำเสนอผ่านโทรทัศน์รุ่นโบราณ บอกว่า การที่โรงเรียนนี้ยิ่งใหญ่และเติบโตขึ้นมานั้น ก็คือทุกคนต่างมี “ระเบียบวินัย” เปรียบได้กับ ระบบที่ถูกกดขี่และสื่อโดยผู้คนกลุ่มหนึ่ง หาใช่คนในปกครองไม่ คนในปกครองจะต้องทำตัวให้มีวินัย ตามกฎ ระเบียบและข้อบังคับของโรงเรียน สื่อให้เห็นถึง กฎบางอย่างในสังคม ที่ทุกคนต้องยอมรับและปฎิบัติตาม โดยไม่มีข้อโต้แย้ง
.
และแน่นอน ไม่มีใครสามารถทำอะไรแนนโน๊ะได้ ซึ่งหากไม่กล่าวถึงก็คงไม่ได้ กับบทบาทของครูเอ นำแสดงโดย เมย์-ภัทรวรินทร์ ทิมกุล ที่เล่นได้ดีมาก บทบาทของความเป็นครูฝ่ายปกครองที่แสนดุดัน และไม่ว่าจะลงโทษแนนโน๊ะในรูปแบบไหน แนนโน๊ะก็สามารถเอาตัวรอดออกมาได้เสมอ ไม่ว่าจะภายใน “ห้องสำนึกตน” เข้าไปเพื่อปรับทัศนคติของนักเรียน เปรียบได้กับบ้านเมืองที่ถูกกดขี่โดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง สร้างกฎขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์อะไรบางอย่างของตัวเองและพวกพ้อง ครูเอบอกว่า “ยิ่งโบราณสิยิ่งดี ของโบราณมีการพิสูจน์ทดสอบมาด้วยกาลเวลา” กฎต่างๆนั้นคร่ำครี โบราณ รวมไปถึงมีฉากที่ทำให้เห็นว่า ตัวครูเอเอง ก็อยากจะทาลิปสติกสีแดงนอกกฎนั้นด้วย และฉากที่ครูเอถามครูบีว่า “ครูบีสูบบุหรี่ใช่ไหม?” ก็ดูค่อนข้างทำให้เห็นว่า ผู้คุมกฎเอง ก็ต่างอยากออกนอกกฎด้วยเหมือนกัน แต่ดันกลายเป็นว่า ครูเอเอาบุหรี่ซองนั้น มายื่นให้เพื่อน ๆ เห็นว่าแนนโน๊ะเป็นคนเอาบุหรี่เข้ามาโรงเรียน เหมือนเป็นการยัดใส้ความผิดให้แนนโน๊ะนั่นเอง
.
ในห้องสำนึกตน “เยลลี่” ตัวละครหนึ่งในตอนนี้ บอกว่า “แกก็ยอมๆเขาไปเถอะ เราจะได้ออกไปพร้อม ๆ กันไง” ฟังแล้วดูหดหู่มากกับกฎแบบนี้ และ “นิว” ตัวละครอีกตัวที่ถูกลงโทษมาด้วยกัน บอกว่า “ผมอยากลาออกจากโรงเรียนนี้” คือ…. มันตรงกับสังคมช่วงนี้มาก ใครๆก็ “อยากย้ายประเทศ” กันหรือเปล่า เพราะสังคมรอบตัว สร้างกฎเพื่อบังคับให้ทุกคนอยู่ในระเบียบ(ที่ล้าสมัย และเกื้อหนุนพวกพ้องกัน) คนรุ่นใหม่ก็ต้องการบอกให้โลกรู้ว่า สังคมนี้มันเป็นแบบไหน ท้ายที่สุด นิวก็ต้องยอมทำตาม และขอโทษอย่างเสียไม่ได้
.
เนื้อเรื่องเอาตัว “ยูริ” มาเป็นอีกตัวละครหนึ่ง ที่เข้ามาเหมือน “สร้างความวุ่นวายใจ” ให้กับแนนโน๊ะ นางเสนอตัวเองกับครูเอ ว่าอยากเป็นหัวหน้าสารวัตร และนางก็ได้อำนาจนั้นมาเต็ม ๆ พยายามสร้างเรื่องที่ขัดกับแนนโน๊ะ และตลบหลังครูเอได้อย่างสาสม
.
ซีนที่น่าประทับใจก็คือ ฉากการพิพากษาคุณครูในหอประชุมใหญ่ของนักเรียนในโรงเรียนนี้ ความคั่งแค้นของนิวที่ทำต่อครูเอ ความแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันเอง จากคำพูดของเยลลี่ “แต่เพราะกูกลัวโดนด่าว่า ‘อิกนนอแรนท์ไง’ ” แม่งเป็นซีนที่แบบสะอึกใจอยู่พักนึง และภาพของครูใหญ่ที่ถือ “ปืน” อันเป็นตัวแทนของ “อำนาจ” มี “อาวุธ” อยู่ในมือ ฉากที่ครูใหญ่บอกให้นักเรียนตัดสินว่า “ใครคิดว่ายูริต้องรับผิดชอบ ยกมือขึ้น” ซึ่งนักเรียนเกือบครึ่ง ยกมือ และนิวก็ยกมือด้วย โอ้โห เสียดสีสังคมได้แบบทะลุทะลวงถึงใจมาก และแนนโน๊ะก็เข้ามา บอกว่า “อยากรู้จังเลยว่า ปืนของครูใหญ่เนี่ย พอจะมีกระสุนยิงแนนโน๊ะให้หมดไหม” อื้อหือออออ อีแนนโน๊ะ เอาใจไปเลยค่าาาาาา คือนี่มองว่า สังคมในปัจจุบันเป็นแบบนี้ และการเมืองก็ได้สอดแทรกเข้าไปในเนื้อเรื่องได้อย่างแยบยลโดยไม่อิงถึงการเมือง แต่มันโครตใช่!!! ภายหลัง “มิเอะ” นักเรียนคนหนึ่งได้ทำหน้าที่เป็นผู้กล้าที่มาไลฟ์สดให้สังคมเห็น ว่าธาตุแท้ของครูใหญ่จริงๆแล้วเป็นยังไง
.
ปิดท้ายตอนด้วยแนนโน๊ะเอากุญแจโรงเรียนมาให้มิเอะ และนักเรียนทุกคนก็ได้ออกไปเผชิญกับโลกภายนอก แต่สีของโลกภายนอก ก็ยังเป็นแค่สีขาวดำอยู่ ไม่ได้ถูกให้เป็นสีที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เอาง่ายๆ ซีนนี้พยายามทำให้เราคิดต่อได้ดีเยี่ยมเลย มี Symbolic ในตอนนี้ให้ตีความเยอะมากๆ สนุกดี
.
ว่ากันด้วยภาพของเรื่องนี้ ชวนให้นึกถึงภาพของหนังเรื่องนึงที่ชื่อว่า Schindler’s List (1993) หนังระดับตำนานกับภาพของเด็กสาวที่ใส่เสื้อโค้ตสีแดงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คือมันสวยและดูอาร์ตมากจริง ๆ การเลือกใช้ดนตรีแบบออร์เคสตรามาเป็นดนตรีประกอบ ก็ทำให้เนื้อเรื่องดูน่าสนใจมากขึ้นไปอีก โดยได้ กอล์ฟ-ปวีณ จากภาพยนตร์ บอดี้ ศพ 19 และ สุรวุฒิ จากภาพยนตร์ สี่แพร่ง มารับหน้าที่เป็นผู้กำกับ ส่วนตัวเจลยกให้อีพีนี้ เป็นอีพีที่ดีที่สุดใน Season นี้เลยค่ะ
👉 EP. 7 JennyX อินฟลูเอนเซอร์สาวยุคใหม่กับ “เจน” (โดย มินนี่-ภัณฑิรา พิพิธยากร) คนที่ถูกสังคมหล่อหลอมให้บอกว่าเธอคือคนที่น่ารักและมีน้ำใจ พร้อมๆไปกับการสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ในแบบที่เธอไม่อยากจะเป็น ซึ่งถูกบังคับโดยพ่อแม่ของเธอเอง
.
อีพีนี้แอบขัดใจนิดๆ ตรงที่ว่า พ่อแม่ เป็นคนเริ่มก่อนหรือเปล่า แต่บทกลับส่งให้ เจน ได้รับผลกรรมแค่คนเดียว ซึ่งมันก็ดีนะ ที่ทำให้เราคิดต่อไปนะว่า เราเองอาจจะเป็นคนที่ตัดสินคนอื่นไปเอง เพราะอีพีนี้ ยูริ เองก็เข้ามาเป็น “ตัวปั่น”
.
เจนอยากลบภาพตัวตนที่ทุกคนรู้จักออกไป เพราะเธออึดอัดใจความต้องถูกจับตามอง และอยากหลบหนีพ่อแม่ที่พยายามหากินบนชื่อเสียงของเธอ จนกระทั่งมาพบกับแนนโน๊ะ ซึ่งเป็น “ตัวปั่น” อีกคน ที่พยายามหว่านล้อมให้เจนออกไปจากชีวิตแบบนี้ และสุดท้าย เจน ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นใหม่ นางเลยวางแผนกับแนนโน๊ะ ไลฟ์สดฆ่าตัวตาย บอกกับแฟนคลับว่า เธอไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว และกลายเป็นคนใหม่ ในนามว่า “โรซี่” แหม่ เจนนี่ โรซี่ แบล็กพิงค์หรอ ฮ่าๆ
.
แต่เรื่องกลับ “ปั่น” ไปอีก เมื่อยูริ เป็นคนที่พยายามแฉเบื้องหลังทั้งหมดของ JennyX และพยายามให้เจนหนีไปจากชีวิตของแนนโน๊ะ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
.
จริง ๆ แล้ว อีพีนี้บทไม่ได้ดราม่า ไม่ได้ดาร์กขั้นสุดเหมือนอีพีอื่นๆ ไม่ได้มีนัยยะ สัญญะอะไรต่างๆออกมา แค่บอกว่า โลกของคนดัง โลกของอินฟลูเอนเซอร์ อาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่พวกเราเห็นบนหน้าจอก็ได้ แต่ก็เป็นอีกอีพีหนึ่งที่มองว่าเป็นอีพีขัดแย้งระหว่าง แนนโน๊ะ และ ยูริ ก่อนนำไปสู่อีพีถัดไป
.
อีพีนี้ได้ ก๋วยเตี๋ยว-จตุพงศ์ ผู้กำกับจาก เด็กใหม่ ซีซันแรก มาทำหน้าที่กำกับ
👉 และ EP. สุดท้าย อวสานแนนโน๊ะ (The Judgement) อีพีนี้หลายๆคนมองว่า “จุนโกะ” อาจจะมาเป็นผู้รับบท “ธิดาซาตาน” คู่กับ “ยูริ” ใน Season ถัดไป … แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม อีพีนี้ทำให้ทุกคนเห็นถึงรอคอยว่า แนนโน๊ะจะมีจุดจบเช่นไร จะต่อยอดอีกไหม หรือจะเป็นจุดจบของแนนโน๊ะในซีซั่นนี้ไปเลย สุดแท้แต่ผู้แสดงและผู้ผลิตเท่านั้นที่ให้คำตอบได้
.
อีพีนี้ได้ พลอย ศรนรินทร์ มารับบท “จุนโกะ” และ ญารินดา บุนนาค นักแสดงมากฝีมือ มากรับบท “ครูหวาน” ซึ่งทั้งสองก็เล่นได้ดีเยี่ยมเลย ยิ่งฉากท้ายๆที่ต้องต่อสู้กัน มีความทึ่งในตัวจุนโกะมาก เพราะเล่นได้ดีเลย ครูหวานก็เข้าถึงบทในความเป็นแม่ที่อยากปกป้อง และมีความรักกับลูกตัวเองมาก มีความไคลเม็กซ์ในตอนท้ายนิดๆ ที่บอกว่า ครูหวานต้องฉีดยาจุนโกะ ไม่ให้จุนโกะไปฆ่าคนอื่น… ก็หักมุมนิดๆ แต่เป็นการเปิดตัวที่โครตประทับใจ Dark side ของจุนโกะมากๆ
.
ว่ากันด้วยตัวละครของ จุนโกะ… ที่มาของจุนโกะนั้น อาจจะแตกต่างกับ ยูริ และ แนนโน๊ะ ค่อนข้างมาก แนนโน๊ะมาด้วยวิถีทางแบบไม่มีที่มาที่ไปแน่ชัด แต่ทุกคนคงมองแล้วว่า แนนโน๊ะ น่าจะเป็นธิดาซาตาน หรือ ผู้มีพลังวิเศษคนนึง แต่ ยูริ เกิดมากจากความริษยา อยากได้ อยากมี อยากเป็น ของตัวเอง…. ส่วนจุนโกะ ค่อนข้างงง ๆ ในเหตุผลของการฆ่าผู้อื่นในตอนแรก ที่บอกว่า นางศึกษาอนาโตมี่ ชีววิทยา ศึกษาตับไตไส้พุงคนอื่น และฆ่าด้วยเหตุผลเพราะพวกเขาเหล่านั้นเคยบุลลี่ตัวเอง .. เหตุผลมันบางมากๆในการตัดสินใจ… แต่ก็อย่างว่า ซีรีส์ก็คือซีรีส์ อาจจะไม่ต้องการเหตุผลอะไรมา Support มากนัก เพราะมีความแฟนตาซีนิดๆ แต่เหตุผลในการเป็นทายาทคนต่อไป แทนที่จะคายตะขาบแบบทายาทอสูตร ก็กินเลือดไปเลย จบๆ….และฆ่าแม่ตัวเองตาย…. อาเมน
.
ทำนองของเพลง Ah, vous dirai-je, Maman อย่าง twinkle twinkle little star ของ Mozart ที่ทุกๆ คนเคยรู้จักกัน ถูกยกนำมาใช้ในบทบาทของ ครูหวาน ความเป็นแม่คนที่ต้องปกป้องความดีงาม ไม่ให้ลูกตัวเองไปทำร้ายใคร ครูหวานบอกว่า จุนโกะ คือปีศาจ ครูหวานยังมีความเป็นมนุษย์อยู่มากในตัวละคร ญารินดา เล่นได้น่าสงสารมากๆ เป็นอีกคนที่เล่นหนังและซีรีส์ได้อินมากๆ ส่วนตัวชอบนางตั้งแต่เรื่อง “ความจำสั้น แต่รักฉันยาว” มากๆ บทบาทในเรื่องนี้ก็แสดงดีไม่แพ้กัน…
.
โดยอีพีนี้ได้ เอส-คมกฤษ ตรีวิมล จาก EP.2 และ 5 มารับหน้าที่ผู้กำกับ
และสุดท้าย สองตัวละคร ที่จะไม่วิจารณ์ไม่ได้ ก็คือ แนนโน๊ะ และ ยูริ …. แนนโน๊ะก็คือแนนโน๊ะ ไม่มีใครมาแทนใครได้ คิตตี้แสดงได้ดีอยู่แล้วในความเป็นคิตตี้ ส่วนน้องนิ้ง ชัญญา ที่มารับบท ยูริ ก็สนุกไม่แพ้กัน นี่ชอบนางตั้งแต่เรื่อง เคว้ง ล่ะ คิดว่านางต้องได้รับบทโรคจิตหน่อยๆ ถึงน่าจะอิน แต่หลายคนกลับไม่ชอบ บอกว่า ยูริ คือตัวปั่น และชอบทำให้แนนโน๊ะ ปฎิบัติภารกิจไม่สำเร็จ ….แต่ส่วนตัวมองว่า ตัวละครตัวนี้ กลับทำให้เราเห็นถึงความแตกต่าง และสัจธรรมที่เกิดขึ้นว่า ไม่มีใคร ก็อยู่ค้ำฟ้าไม่ได้ แม้แต่แนนโน๊ะเองก็ตาม…
.
และเอาจริงๆ ถ้าจะบอกว่าหนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนเรื่อง โทมิเอะ ของญี่ปุ่น หญิงสาวปริศนาที่มาพร้อมกับความสยองขวัญ และหากมองจริงๆแล้ว แนนโน๊ะแทบไม่เคยลงมือฆ่าใครด้วยตัวเองเลย แต่แนนโน๊ะจะใช้มือคนอื่น ยืมมือคนอื่นมาฆ่า ส่วนจุนโกะไม่ต้องพูดถึง นางฆ่าแม่ตัวเองตั้งแต่ต้นจ้าาาาา…….และสิ่งที่แตกต่างกันไปคือ โทมิเอะ จะใช้วิธีการขยายพันธุ์แบบแบ่งตัว ใช้อวัยวะในร่ายกายแบ่งตัวเอง ดูเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่า แต่แนนโน๊ะขยายพันธุ์ด้วยการใช้เลือด และมองดีๆ อาจจะผนวกกับหนังสือเรื่อง Paradise Lost ของ John Milton ก็คงไม่แปลก มีการตีความศาสนาในมุมของของมิลตันเอง ซีรีส์เรื่องนี้มีทั้งหมด 8 EP ก็จริง แต่ 7 EP หลักที่เล่าถึงผู้กระทำความผิดบาป ทำให้นึกถึงเรื่อง บาป 7 ประการ(7 deadly sins) ซึ่งเป็นเรื่องของ ซาตาน หรือ ลูซิเฟอร์ อันสืบเนื่องไปถึงเรื่องราวของแนะโน๊ะได้นั่นเอง
.
EP.1 >> โลภะ (avaricia) ความโลภอยากได้ของผู้ชาย ที่ส่งต่อความเดือดร้อนให้กับผู้หญิง
EP.2 >> ตัณหา ราคะ (luxuria) ความรักที่ไม่สมหวัง รักที่ไม่เข้าใจ รักที่ต้องการครอบครอง
EP3 >> เกียจคร้าน (acedia) ความไม่สนใจใยดี ต่อคนรอบข้าง ไม่ใส่ใจแม้แต่คนที่ตายเพราะน้ำมือตัวเอง
EP.4 >> ริษยา (invidia) ความอิจฉาของยูริ ที่อยากมีเงิน อยากรวยเหมือนสองสาว
EP.5 >> อัตตา หรือ ทะนงตน (superbia) ความมีอัตตาของรุ่นพี่โซตัสคนหนึ่ง ที่มองเห็นแต่ว่าตัวเองคือ “รุ่นพี่” ทะนงตัวว่าทุกคนต้องเคารพ
EP.6 >> ตะกละ (gula) ครูที่มองเห็นแต่เม็ดเงินเข้าโรงเรียน มูมมามกินเงินโรงเรียน
EP.7 >> โมโห โทสะ (ira) หญิงสาวที่โมโหพ่อแม่ ไม่พอในใจชีวิตตัวเอง
.
ในอีพีสุดท้าย The Judgement หากมองดีๆจะเห็นฉากในสวนบ่อยมาก แม้แต่ตอนแนนโน๊ะถูกฆ่าตาย ก็อยู่ในสวนดอกไม้ ซึ่งจริงๆแล้ว นิสัยของแนนโน๊ะคือไม่ชอบดอกไม้ แต่ต้องกลับมาตายในสวนสวรรค์แห่งนี้ และสิ่งหนึ่งที่แนนโน๊ะให้กับตัวละครต่าง ๆ ก็คือ “การลงโทษ” ซึ่งแทนที่จะให้การลงโทษของพวกเขาเป็นหายนะโดยสิ้นเชิง แต่ความดีบางอย่างก็เกิดขึ้นเนื่องจากมนุษยชาติเรียนรู้ว่าพระเจ้าทรงมีความรักที่ไร้ขอบเขต ให้อภัยแก่พวกเขา เพราะฉะนั้น ในบางตอน เราจะเห็นว่าแนนโน๊ะแทบจะไม่ทำอะไรเลย ซึ่งแนนโน๊ะเป็นเพียงสื่อหนึ่งที่ทำให้เห็นด้านชั่วร้ายของมนุษย์ และยูริ ก็คือตัวแทนที่ แนนโน๊ะ สร้างขึ้น เพื่อบอกว่า “ฉันคือคนที่โดนกระทำมาก่อน” และยูริเลยใช้เหตุผลนี้ ในการสร้าง “จุนโกะ” ขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง แต่ถูกแนนโน๊ะ ตอกกลับไปว่า “คนอย่าง ยูริหรือจุนโกะ มันยากที่จะบอกนะ ว่าเป็นผู้ถูกกระทำ” และ ยูริก็บอกต่อ ทำให้เราฉุกคิดได้ว่า “ใครกันแน่ ที่เป็นคนที่ผิด แนนโน๊ะ ตัดสินได้เหรอ?!”
.
ในสวนแห่งสรวงสรรรค์ “บาป” ของอาดัมและเอวา ซึ่งเป็นตัวแทนของ “มนุษย์” ผู้ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกระทำการบางอย่าง และท้ายที่สุด ทุกคนก็ต่างโดนตัดสินใน “บาป” ของตัวเอง
.
และ “บาป” ใหญ่ของซาตาน อย่าง “แนนโน๊ะ” คือการปฏิเสธการยอมจำนนต่อพระเจ้า ซาตานมักจะมีความเชื่อที่ว่า “ทูตสวรรค์” ถูกสร้างขึ้นเอง เหมือนกับ “ยูริ” ที่ถูกสร้างขึ้นเป็น “ทูต” อีกคนหนึ่ง แต่ก็ดันถูก “บาป” นั้น มาทำร้ายตัวเองได้เหมือนกัน….
.
…ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะยังไง ซีรีส์นี้จะดีหรือไม่ดี ใครเป็นผู้ตัดสิน เพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง โรงเรียน สังคม คนรอบข้าง กระบวนการยุติธรรม แนนโน๊ะ ยูริ จุนโกะ ยมบาล หรือตัวเราเอง ก็อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดในการตัดสิน…
Leave a Review