Web
Analytics
EntertainMovies

จาก “นางนาก” สู่ “พี่มาก” ตำนาน ความรัก และ ความตาย

 

หากจะพูดถึงหนังไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และมีการกล่าวถึงมากที่สุด หนึ่งในนั้นก็คงหนีไม่พ้น หนังไทยที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานความรักของ “พ่อมาก” กับ “แม่นาก” เรื่องราวความรักอมตะ ระหว่าง “ผี” กับ “คน” เป็นนิทานพื้นบ้านเก่าแก่ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นตำนานที่มีมาตั้งแต่ยุคสมัย ต้นรัตนโกสินทร์และถูกนำมาดัดแปลงทำเป็นละคร, ภาพยนตร์, การ์ตูน, เพลง หรือแม้กระทั่งละครเวที โดยเรื่องราวที่จะกล่าวถึงในบทความต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” ที่ สร้างขึ้นโดย นนทรีนิมิตรบุตร เป็นผู้กำกับ และถูกฉายในปีพ.ศ.2542 หรือเมื่อกว่า 14 ปีที่แล้ว กับการ เปรียบเทียบภาพยนตร์เรื่อง “พี่มาก..พระโขนง” ที่กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกุล ถูกฉายในปีพ.ศ. 2556 ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ต่างมีเนื้อหาที่นำมาจากตำนานเก่าแก่ข้างต้น และมีรายได้ที่สูงมาก โดยจะนำมา วิจารณ์เปรียบเทียบและศึกษาโดยใช้ทฤษฎีและวิธีการเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนเบื้องต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ความคิดเห็นที่ประกอบขึ้นในบทความเอกสารชิ้นนี้ล้วนแต่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ประกอบ กับเอกสารอ้างอิงที่ผู้เขียนได้ค้นคว้าเพื่อนำมาใช้ในงานชิ้นนี้

     “ความตายมิอาจพรากหัวใจแห่งนาง” คำโปรยบนโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” ที่ถูกฉาย ในปีพ.ศ.2542 นั้น เป็นการนำคำโปรยที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานความรักแห่งทุ่งพระโขนง ทำให้เห็นว่า ความรักของนางนากที่มีต่อพ่อมากนั้นมากเพียงใด แม้กระทั่งนางได้ตายไปแล้ว แต่วิญญาณของนางก็ยัง คงวนเวียนและคอยรับใช้สามีอันเป็นที่รัก กล่าวได้ว่าเรื่องนี้เป็นการนำตำนานความรักอันโด่งดัง นำมาทำ เป็นภาพยนตร์โดยใช้เค้าโครงเรื่องแบบดั้งเดิม แต่นำมาทำใหม่(Remake) มีการทำโปรดักชั่นที่สมจริง ย้อนกลับไปถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ราวรัชกาลที่ 4 การสร้างบ้านเรือนไทย การแต่งตัวที่เหมือนในสมัย ก่อน รวมไปถึงบทภาพยนตร์ที่ล้วนแต่เขียนขึ้นโดยการอ้างอิงจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และเพลง ประกอบภาพยนตร์ที่ชวนขนหัวลุก ทำให้ได้ภาพยนตร์ที่เสมือนย้อนกลับไปสู่ยุคสมัยนั้นจริงๆ ภาพสวย ฉากหรือเพลงต่างๆล้วนน่ากลัว และการแสดงของตัวละครต่างก็ทุ่มเทอย่างสุดตัว เช่นการยอมตัดผม จริงๆเป็นทรงโบราณของนางเอก ย้อมฟันดำ ทาตัวผิวสีแทนให้เหมือนคนทำนา ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งรายได้และรางวัลในช่วงเวลานั้น โดยได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากงานสุพรรณหงส์ครั้งที่ 9 ประจำปีพ.ศ. 2542 และส่งผลถึงนักแสดงนำอย่าง ทราย อินทิรา เจริญปุ ระ และ วินัย ไกรบุตร เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงมากในเวลานั้นเอง

 

     “นางนาก” หากมองในแง่ของการนำทฤษฎีมาใช้เพื่อตีความประกอบหนัง ก็คงหนีไม่พ้นทฤษฎี ของสำนักวัฒนธรรมศึกษา โดยจะนำทฤษฎีกระจกสะท้อนหรือภาพสะท้อนมาใช้โดยแนวคิดหลักของ ทฤษฎีภาพสะท้อนก็คือ สื่อทุกประเภทของสังคมจะทำหน้าที่ประดุจเป็น “กระจกส่องสะท้อนให้เห็น ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม” ดังนั้น จากภาพยนตร์เรื่องนี้เราจะพบกระจกสะท้อนของสังคมนั้นๆ

 

     โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “ความเชื่อของคนไทยโบราณ” ที่ต่างประกอบขึ้น และเป็น “ความเชื่อ” ที่ยัง หลงเหลือมาอยู่จนปัจจุบันนี้เช่น ในฉากการเริ่มเรื่อง จากงานของ ศิรตะวัน ทหารแกล้ว (2555) ใน บทความเรื่อง ลำดับเหตุการณ์และบทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนางนาก กล่าวว่า วันที่ 18 สิงหาคม ร.ศ.2411 ตรงกับขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 เกิดสุริยุปราคาที่อำเภอหว้ากอ ผู้คนที่พายเรือสัญจรไปมาตลอดจนชาว บ้านริมคลองชี้ชวนกันดูปรากฏการณ์นี้ด้วยความตกอกตกใจ เกิดความสับสนอลหม่านขึ้นทั่ว ชาวบ้านคิด ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลางร้ายและอาเพศที่ใหญ่หลวง เสียงพระสวดมนต์และตีระฆังระงม มีการตีเกราะเคาะ ไม้คนออกมายิงปืนไล่ราหูนกฝูงใหญ่บินวนอยู่เต็มท้องฟ้า จากเนื้อหานี้เราจะเห็นได้ว่า ความเชื่อของ 1 คนไทยโบราณ มีความเชื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่เกิดสุริยุปราคา จะเป็นเหตุบอกลางร้ายบอกเหตุล่วงหน้าอย่าง ใดก็อย่างหนึ่ง ความเชื่อชนิดนี้ทำให้คนต้องออกมายิงปืน ตีเกราะเคาะไม้ทำให้เกิดเสียงดังไล่พระราหูที่ กำลังอมพระอาทิตย์ออกไป หรือแม้กระทั่งความเชื่อเกี่ยวกับแมงมุมตีอกในเรือน ก็จะเกิดภัยอันตราย ความเชื่อเกี่ยวกับนกแสกบินผ่านหลังคาบ้าน ก็จะมีคนในบ้านเสียชีวิต การมองลอดหว่างขาแล้วจะเห็นผี รวมไปถึงความเชื่อในเรื่องของเวทย์มนต์คาถา ของขลัง เมื่อหลวงพ่อวัดมหาบุศย์มอบตระกรุดให้กับนาง นาก สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่อยู่ในฉากที่ประกอบขึ้นในภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งสิ้น


     บทบาทที่น่าสนใจของภาพยนตร์เรื่อง “นางนาก” ก็คือ การนำเสนอตัวตนของแม่นาค ใน บทบาทของ “ผีไทย” ที่อยู่ในบทบาทของ “ผู้หญิง” นั้น แตกต่างไปจาก “ผีผู้หญิง” แบบเดิมๆ กล่าวคือ จากตำนานแบบเดิม ที่มีการวิ่งไล่และวิ่งหนีระหว่างผีกับคน มาเป็นเรื่องของความรักและความลำบาก ของหญิงสาวคนหนึ่งที่บูชาความรัก จากผีที่น่ากลัวและผีตลก(อย่างผีปอบหยิบ) กลายเป็นหญิงสาวที่น่าสงสารและเทิดทูน มีการเปลี่ยนการจากใช้คำว่า “แม่นาค” เป็น “นางนาค” ให้ดูสมจริงและเข้าถึง การ ประดิษฐ์ใหม่ของตัวละครก็ล้วนแต่แปลกไปจากเดิม เช่นการเปลี่ยนจากผีสาวผมยาว กลายเป็น ผีผมสั้น จากแม่นากแบบเดิมที่สวยมาก กลายเป็นนางนาคที่เคี้ยวหมากฟันดำ ไม่ต้องใส่ผ้าสไบ เปลี่ยนมาใส่ กระโจมอกแทน และเปลี่ยนคำที่เรียกขานเดิมๆจาก “พี่มากขาาาาา” กลายเป็น “ไอ้มาก” ไปเสีย

 

 

     ในความคิดเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับการนำเสนอของนนทรีที่นำเสนอภาพแบบโบราณ การใช้เทคนิคต่างๆที่เหมือนความสมจริงย้อนกลับไปสมัยโบราณ สร้างฉาก ตัวละคร รวมไป ถึงบทภาพยนตร์ที่นำเสนอก็ทำให้เรื่องนี้ดูน่าสนใจ นำความเชื่อ คำพูดแบบโบราณ และการอ้างอิงหลัก ฐานทางประวัติศาสตร์มาใช้ในเรื่อง มากกว่าการทำหนังนางนากแบบเดิมๆ จาก “แม่นาก” ผีไทยที่น่ากลัวและตลกวิ่งหนีในหลายเรื่องๆ กลายเป็น “นางนาก” ที่ดูสมจริง ส่วนตัวเห็นว่าเนื้อเรื่องแม่นาคเป็นที่ คุ้นเคยของคนไทยอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากมากที่ผู้กำกับอย่างนนทรีย์นิมิตบุตร จะนำมาปรุงแต่งใหม่ โดยยืนพื้นบนตำนานเก่าแก่ของไทย และการใช้เรื่องของความเชื่อโบราณ ที่มองว่า คนตายทั้งกลม ย่อมกลายเป็นผีที่มีความเฮี้ยนและดุ นำมาผสมกับเรื่องของความรักที่เมื่อตายไปแล้วก็ยังอยากดูแลคนรัก รับใช้สามีของตน อีกทั้ง การประกอบความเชื่อต่างๆในเรื่องนั้น ย่อมเป็นกระจกสะท้อนภาพสังคมไทย ที่ มีความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตหลังความความตาย ความเชื่อในเรื่องโชคลาง อีกทั้งความเชื่อหลายอย่างก็ยังส่ง ต่อมาถึงยุคปัจจุบันอีกด้วย

 

     จาก “นางนาก” สู่ “พี่มาก…พระโขนง” เวอร์ชั่นปีพ.ศ.2556 จากขนบการทำหนังแบบเดิม ที่ผีผู้ หญิงสาวผมยาว กลายเป็นผมสั้น ผีตลกน่ากลัว กลายเป็น ผีน่าสงสาร และการแปรไปเป็นหนังแบบใหม่จากการตีความ “นางนาค”  ในเวอร์ชั่น นนทรีกลายเป็น “พี่มาก” ในเวอร์ชั่นของ บรรจง ทำให้หนังทั้ง สองเรื่องนี้ได้รับความสนใจจากผู้ชมเป็นอย่างมาก   ภาพยนต์เรื่อง “พี่มาก…พระโขนง” เวอร์ชั่น พ.ศ.2556 เป็นการนำเนื้อหาเดิมจากตำนานแม่นาค พระโขนง กลายเป็นเนื้อหาใหม่ ที่ใช้ชื่อของ “พี่มาก” ในการนำเสนอ การเล่าเรื่องของตัวละครก็ต่างไป จากขนบแบบเก่า มีการหักมุมตอนจบ จาก “ผี” ที่ไม่สามารถอยู่กับ “คน” ได้กลายมาเป็น “ผี” ก็อยู่ กับ “คน” ได้เป็นการชี้นำและบ่งบอกได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็รักกันได้   การใช้บทภาพยนตร์ก็เป็นสิ่งสำคัญ หลายๆคำในเรื่องเป็นภาษาสมัยปัจจุบัน ร่วมยุคทำให้คนเข้า ถึงได้ง่าย บทเพลงประกอบหนังที่เอาเพลงเก่าอย่าง “อยากหยุดเวลา” ของ ศรัณย่า ส่งเสริมสวัสดิ์ นำ มาร้องใหม่โดย ปาล์มมี่อีฟ ปานเจริญ ก็ทำให้การ Remake ของเก่า กลายเป็นของใหม่ที่น่าสนใจและ น่าฟังมากขึ้นกว่าเดิม


     สำหรับภาพยนตร์เรื่อง “พี่มาก..พระโขนง” นั้น หากนำแนวคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์การเมืองว่า ด้วยสื่อ (Political economy of Media) ที่มีแนวคิดต่อเนื่องมาจาก K. Marx โดยตรง เป็นการศึกษาที่ มุ่งเน้นเชิงเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดสังคมหรือเน้นในโครงสร้างส่วนล่าง มีความคิดเห็นว่าสื่อต่างๆ มี ลักษณะเป็น “สินค้า” ชนิดหนึ่งไม่ต่างไปจากสินค้าในระบบทุนนิยมอื่นๆ หากมีการลงทุนในสื่อใดๆ ก็ ย่อมหวังผลกำไร จะพบว่า หนังเรื่องนี้มีต้นทุนการสร้างเพียง 65 ล้านบาท แต่สามารถโกยกำไรทั้ง 2 ประเทศได้ถึง 1,000 ล้านบาท นับว่าประสบความสำเร็จในเรื่องของรายได้มีการนำนักแสดงชื่อดังอย่าง มาริโอ้ เมาเร่อ มาร่วมแสดง ทำให้สามารถดึงดูดคนดูได้เป็นอย่างดีทั้งจากในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

     อีกทั้งการผลิตหนังเรื่องนี้ท้ายที่สุดก็หวังเพื่อประโยชน์ของเจ้าของหรือนายทุนโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ ของประชาชนเป็นเพียงเรื่องรองลงไป เพราะเราจะเห็นได้ว่า ในส่วนของหนังเอง ไม่ได้คำนึกถึงความ สมจริงของเรื่องราว หากแต่นำเพียงแก่นเรื่อง แต่มาร้อยเรียงใหม่ ให้เหมาะกับ Lifestyle คนปัจจุบัน นึกถึงความสนุก ที่สอดใส่ลงไปในบทละคร เช่นคำพูด ฉากงานวัด (มีชิงช้าสวรรค์ซึ่งสมัยก่อนต้น รัตนโกสินทร์ไม่มีเพราะสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้าใช้) ไม่เน้นของเดิม แต่เน้นความสนุกของบท การดำเนิน เรื่องที่แปลกไปจาก “แม่นาก” แบบเดิมๆมาเป็น “นาก” ที่สวยสุดๆ “มาก” ที่ทันสมัยสุดๆ(ในสมัยนั้น แต่คำพูดเป็นแบบปัจจุบัน – พี่มาร์ค)

     จากภาพยนตร์เรื่องนี้ในฐานะของผู้รับสาร (Reciever) ข้าพเจ้าขอใช้ทฤษฎีสำนักโครงสร้าง หน้าที่ (Functionalism) มาวิเคราะห์ภาพยนตร์เรื่องนี้ประกอบเพิ่มด้วย ซึ่งจะวิเคราะห์ในส่วนของผู้รับ สาร ว่าหลังจากที่ได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง “พี่มาก..พระโขนง” แล้วนั้น ได้ให้แง่คิดอะไรแก่ผู้ชม และผู้ชม สามารถตีความ พร้อมกับเข้าใจเรื่องราวภายในหนังเรื่องนั้นได้หรือไม่   ในทัศนะของข้าพเจ้าเองนั้น ได้มองเห็นว่า การที่ผู้ส่งสารหรือผู้กำกับภาพยนตร์ได้สื่อออกมาให้ กับผู้รับสารหรือผู้ชม เรื่องราวหลายๆเรื่องย่อมที่จะมีความหมายในตัวของมันเอง หากแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้น อยู่กับตัวผู้รับสารเองว่า จะสามารถตีความ ขยายความ และเข้าใจเรื่องราวต่างๆได้มากน้อยเพียงไหน เพราะว่า ผู้รับสารแต่ละคนนั้น ล้วนแต่มีประสบการณ์ต่างๆที่ไม่เหมือนกัน การตีความหมาย (Decode) ในหนังก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากชาวตะวันตก หรือคนต่างประเทศบางคนมาดู หนังเรื่องนี้ก็อาจจะไม่เข้าใจเรื่องของวัฒนธรรมไทยบางอย่างที่อยู่ในเรื่อง ไม่เข้าใจความหมายของผีตาย ทั้งกลม ไม่เข้าใจมุกตลกบางอย่างเช่นการเล่นมุกคำใบ้กับท่าทางที่เป็นภาษาไทย เป็นต้น

 


     ตัวละคร(Character) ในเรื่องก็เป็นสิ่งสำคัญ การนำนักแสดงนำสุดหล่ออย่าง มาริโอ้เมาเร่อ ที่ เป็นขวัญใจของวัยรุ่นสมัยนี้และการนำแก๊ง 4 หนุ่มเพื่อนของพี่มาก ได้แก่ เต๋อ ,ชิน ,เผือก ,เอ ที่สามารถ แย่งซีนและสร้างความโดดเด่นด้วยการใช้มุขตลก และมีกระแสตอบรับที่ดีก็ทำให้หนังเรื่องนี้ประสบ ความสำเร็จได้อย่างดีเพราะผู้รับสารหลายคน(โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นคนไทย) มักรู้จักและคุ้นเคยกับนักแสดงเหล่านี้มาอยู่แล้วจากหนังหลายเรื่องของผู้กำกับ เช่น สี่แพร่ง ตอน คนกลาง และจากสื่อบันเทิง หลายๆสื่ออีกด้วย เพราะฉะนั้นการตอบรับจากผู้รับสื่อ ย่อมชื่นชมในตัวนักแสดงเป็นทุนเดิม การจะรับสารหรือรับชมหนังจากนักแสดงที่ตนเคยชื่นชอบอยู่ก็ไม่น่าจะผิดแปลกเท่าใดนัก เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การตีความหรือวิเคราะห์สารนั้น เป็นเรื่องของปัจเจกชน มุมมองในการวิเคราะห์ก็ย่อมแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน แต่สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นจุดร่วมของ เหล่าผู้ชม นั่นก็คือ ความรัก ความรู้สึก ความตลก จากแก๊งค์เพื่อนทั้ง 4 ความเศร้าโศก ความห่วงหา อาลัยอาวรณ์ของตัวละครแม่นาค หรือแม้กระทั่งความสงสารที่มีต่อแม่นาคเอง สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่า ผู้รับสาร ย่อมมีทั้งจุดเหมือนในความรู้สึก และก็ย่อมมีจุดต่างกันไป บ้างก็ว่าแปลก ตลก บ้างก็ว่าไม่เอา ไหน ด้วยเหตุที่ว่าดูไม่สมจริง ซึ่งถ้าหากจะตีความให้ลึกแล้วนั้น ก็ย่อมอยู่กับประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยตรงของตัวเองเท่านั้น

 

     การตีความของเรื่อง ที่ถูกทำให้กลายเป็นขนบแบบใหม่ หลายคนมองว่าแม่นาคฉบับล่าสุด เป็นการตีความใหม่ ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นการปรุงแต่งใหม่เสียมากกว่า ตัวหนังเองก็ได้รับ อิทธิพลแบบโพสต์โมเดิร์น คือ ไม่ต้องการกลับไปเป็นเหมือนเดิม ทำแบบใหม่แต่ใช้ของเก่ามาเป็นตัวกำหนดเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการสร้างภาพเพื่อให้เกิดความตื่นตาตื่นใจ ความสนุกในฉากงานวัด บทที่ทำให้เห็นว่าพระนั้นเป็นที่พึ่งพาไม่ได้ตัวละครแม่นาคในเวอร์ชั่นเก่าๆจบลงด้วยการโดนพระปราบ และ พระชนะผีแต่ฉบับนี้พระกลับกลายเป็นตัวตลก โดนถีบออกนอกสายสิญจน์แถมยังกระโดดหนีไปเสียอีก ปล่อยให้ฆราวาสต้องแก้ปัญหากันเอง ซึ่งปัญหาที่ว่าก็ไม่ใช่ปัญหาของ “ชุมชน” แต่เป็นปัญหา “ส่วนบุคคล” ซึ่งจะว่าไปก็เป็นแค่ปัญหาของ “พี่มาก” และผองเพื่อน สะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของพระนั้น เปลี่ยนไป มุมมองของหนังเรื่องนี้ไม่คิดว่าพระจะพึ่งพาได้ซึ่งอาจคล้ายๆความคิดของคนเมืองยุคนี้ที่เชื่อ ในตัวเองมากกว่าอิทธิฤทธิ์ของพระในเรื่องของปาฏิหาริย์แถมยังเห็นเรื่องพวกนั้นเป็นเรื่องตลกด้วยซ้ำ อีกทั้งยังเขียนประวัติศาสตร์แม่นาคเสียใหม่ เล่าเรื่องผ่าน “พี่มาก” จึงทำให้ “พี่มาก…พระโขนง” กลาย เป็นภาพแห่งความตื่นตาตื่นใจกับสิ่งที่ใหม่คาดฝันในตำนานเก่าที่เป็นที่รู้จักกันดี

 

 

     สุดท้ายนี้สิ่งที่อยากจะบอกก็คือ ความแตกต่างในแต่ละยุคสมัย ย่อมเป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่าน ไปแต่ละช่วง การทำหนังของคนทั้งสอง ต่างมีจุดยืนที่แตกต่าง และสร้างขนบของหนังที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ การลงทุนของหนัง ทั้งสองต่างอยากสร้างหนัง เพื่อทำไร ให้ระบอบทุนนิยม บางเรื่อง หาใช่ประเด็นที่จะทำให้สังคมเรียนรู้แต่หากเป็นสิ่งบันเทิง ที่ทำให้คนรับรู้เพื่อบอกว่า หนังของเราสนุก นะ ภาพสวยนะ สมจริงนะ เธอต้องดูและสุดท้ายก็ต้องเป็นสิ่งที่ผู้ชมกำหนดเอง ว่าจะเลือกรับสารแบบที่เป็นอยู่หรือไม่

 

อ้างอิง

กาญจนา แก้วเทพ. (2545). สื่อสารมวลชน : ทฤษฎีและแนวทางการศึกษา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ ศาลาแดง.

กำจร หลุยยะพงศ์. (2547). หนังอุษาคเนย์ : การศึกษาภาพยนตร์แนววัฒนธรรมศึกษา. กรุงเทพมหานคร : โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. “นางนาก” ทุบสถิติ “ไททานิก” หน้า 255, กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. (2556). จากพี่มากและแม่นาคพระโขนง… สู่พี่มากและแม่นาคแห่งชาติ สืบค้นจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1366185605

พิชีย สดพิบาล.(รองศาสตราจารย์ว่าที่ร้อยไทย) แม่นาก…ตำนานคู่เมืองไทย. กรุงเทพมหานคร.

ศิรตะวัน ทหารแกล้ว. (2555). ลำดับเหตุการณ์และบทวิจารณ์ภาพยนตร์เรื่องนางนาก. สืบค้นจาก https://siratawan42.wordpress.com/2011/05/04/นางนาก/

อัญชลี ชัยวรพร. (2554). จอห์น วูและนางนาก : ความตื่นตาตื่นใจในยุคโพสต์โมเดิร์น. สืบค้นจาก http://www.thaicritic.com/?p=773 GLASS SPIDER. (มปก)” 15 ปีนางนาก ” และ ตำนานรักแห่งทุ่งพระโขนง … สืบค้นจาก http://pantip.com/topic/32758906

Ads

jelliline

มนุษย์ผิวแทนที่ชอบแต่งหน้า ถ่ายรูป หลงใหลในเทคโนโลยี สนใจในวัฒนธรรม ชอบเที่ยวไปในโลกกว้าง และเป็นสายกินสุดๆ.....

Related Articles

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Back to top button