ใครที่กำลังรู้สึกวุ่นวาย ท้อแท้ หรือจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว คิดเยอะ หรือแม้กระทั่งว้าวุ่นอยู่ในจิตใจล่ะก็ เจลแนะนำหนังเรื่องนี้เลยค่ะ กับเรื่อง “Walk With Me” ชื่อไทยคือ “ก้าวเดินกับฉัน”… หนังเรื่องนี้จะเป็นหนังแนวสารคดี กำกับโดย Marc Francis และ Max Pugh ความยาวประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับผู้นำทางจิตวิญญาณนิกายเซนคนหนึ่ง คือ หลวงปู่ ติช นัท ฮันห์ พร้อมกับเรื่องราวที่ดำเนินไปกับนักบวชในหมู่บ้านพลัม และการตระหนักรู้ในเรื่องการมีอยู่ของสิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติและสัจธรรม
หนังเรื่องนี้ใช้เวลาการถ่ายทำถึงกว่า 3 ปี โดยมีฟุตเทจยาวกว่า 150 ชั่วโมง ถามว่าทำไมถึงต้องเป็นท่าน ติช นัท ฮันห์ ล่ะ เขาเป็นใคร มาจากไหน ทำอะไร…
ขอเกริ่นนำก่อนนะคะว่า ท่าน ติช นัท ฮันห์ ผู้นี้ เป็นพระภิกษุชาวเวียดนาม เป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อสำหรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพโดย มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ประวัติคร่าวๆของท่านคือ ท่านบวชเป็นสามเณรมาตั้งแต่อายุ 16 จนกระทั่งอายุ 23 ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้เดินทางไปไซ่ง่อนเพื่อฟื้นฟูพุทธศาสนาและเขียนบทความเพื่อสร้างสันติสุขในยุคของสงครามเวียดนาม ท่านก่อตั้งการรณรงค์เพื่อสันติภาพ โดยรณรงค์ให้แก้ปัญหาและหยุดการสนับสนุนสงครามโดยเฉพาะการแทรกแซงของสหรัฐฯ มุ่งเน้นให้เกิดสันติภาพ จนทำให้ท่านถูกต่อต้านจากผู้นำในสมัยนั้น และท่านก็ได้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ไปพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้งหมู่บ้านพลัมขึ้นมา
หมู่บ้านพลัม หรือ Plum Village ได้ถูกตั้งชื่อตามชื่อต้นพลัมที่ปลูกอยู่ทั่วผืนดินที่ท่านได้อาศัย จุดประสงค์หลักคือการแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนาในดินแดนตะวันตกรวมถึงฝึกปฏิบัติเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกับการอยู่ร่วมกันกับโลกใบนี้ ปัจจุบัน มีสังฆะ หมู่บ้านพลัม อยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก มีทั้งนักบวชและฆราวาสจำนวนมากปฏิบัติร่วมกันอย่างมีสติ ตื่นรู้ โดยไม่แยกขาดจากสังคมและเหมาะสมกับยุคสมัย โดยการประยุกต์หลักธรรมให้เข้าใจง่ายสำหรับคนยุคใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งแก่นธรรมอันลึกซึ้ง (CR : http://www.newheartawaken.com/guru/29)
กลับมาที่หนังสารคดีเรื่องนี้กันก่อน…
สำหรับเรื่อง Walk With Me นั้น เริ่มต้นการดำเนินเรื่องราวในเรื่องของการบวชเป็นพระภิกษุ ณ หมู่บ้านพลัมก่อน ทำให้เราเห็นวัฒนธรรมในการบวชอย่างชัดเจน คือไม่ว่าจะเป็นทั้งเพศชาย หรือหญิง ก็สามารถบวชเป็นพระ หรือสังฆะ ได้ ขั้นตอนการบวชก็เหมือนกับในศาสนาพุทธ นั่นคือการละทิ้งซึ่งกิเลศติดตัวก่อน นั่นคือการปลงผม ในเรื่องเริ่มต้นการปลงผมให้เห็น บอกถึงว่า เธอกลับมาแล้ว เธอได้อยู่ที่บ้านที่แท้จริงแล้ว “I am truly home” …
หนังถ่ายทอดเรื่องราวเน้นการใช้มุมกล้องแบบ Hand Held และประหนึ่งเหมือนว่าเป็นสายตาเราจับจ้องอยู่เสมอๆ พาไปเยี่ยมชมตั้งแต่เริ่มต้นการเข้ามาในหมู่บ้านพลัม โดยคนทั่วไปสามารถที่จะเข้าถึงหมู่บ้านนี้ได้ ประหนึ่งการมาทัวร์สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ หากแม้แต่ว่า สถานที่นี้คือสถานที่อันเป็นบ้าน บ้านอย่างแท้จริงน่ะหรือ?
ตัวหนังเอง พยายามถ่ายทอดโดยการดำเนินเรื่องในแต่ละตอน ผ่านฤดูกาลทั้งสี่ คือ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูใบไม้ร่วง ไปจนถึงฤดูหนาว …การพาไปเยี่ยมชมกิจวัตรประจำวันต่างๆของผู้คนที่อยู่ในหมู่บ้านพลัม ตั้งแต่เรื่องการฝึกร้องเพลง การเจริญสติ การสวดมนต์ภาวนา ตามไปถึงในห้องนอน ลานกิจกรรม ห้องครัวที่ทำกับข้าว โดยหนังได้สอดแทรกเรื่องราวของแต่ละคนที่อยู่ในสถานที่ต่างๆไว้อย่างลึกซึ้ง เช่น เรื่องราวเล็กๆของคนสองคนที่เคยเป็นเพื่อนและทำงานด้วยกันมาก่อนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ต่างคนต่างย้ายไปอยู่สถานที่อื่น ทำงานทำการเปลี่ยนไป คนหนึ่งเคยเป็นนักบวชและเป็นมะเร็งมาก่อน อีกคนก็นึกว่าคนที่เป็นมะเร็งนั้นตายไปเสียแล้ว เลยไม่ได้ติดต่อข่าวคราว กลับมาเจอกันที่ลานกิจกรรมขณะทำการปูอาสนะให้กับทางหมู่บ้านพลัมเพื่อให้คนมานั่งทำสมาธิเจริญสติ
ฉากลูกศิษย์ของท่านติช นัท ฮันห์ ที่บอกเล่าขณะดูแลเรื่องสำรับอาหารกับข้าวของท่านติช นัท ฮันห์อยู่ในครัว เป็นมุมเล็กๆที่ทำให้เห็นว่า ผู้ที่ยิ่งใหญ่มักจะมีคนเล็กๆคอยช่วยเหลือและเป็นแรงผลักดันให้อยู่เสมอ…
ส่วนตัวเราเอง ชอบฉากที่มีพระภิกษุณีออกมาถามคำถามกับชายหนุ่มผู้หนึ่ง ที่เป็นประธานสมาคมเสียง(อะไรสักอย่าง เราจำไม่ได้) เขาถามว่าประมาณว่า ถ้าหากความเงียบ ความสงบคือสิ่งที่ดีที่สุดแล้วนั้น แล้วเราจะมีเสียง มีดนตรีอันไพเราะไปเพื่ออะไร (ประมาณนี้ จำคำถามละเอียดไม่ได้)
พระภิกษุณีจึงตอบว่า จริงๆแล้ว ความเงียบคือเสียงอันศักดิ์สิทธิ์ เปรียบได้กับสีดำ ที่ได้กลืนทุกสิ่งทุกอย่างกลับสู่ภาวะของธรรมชาติ ดูดกลืนเอาทุกสี เพื่อเปล่งไปสู่ความงดงาม หากเราสับสนวุ่นวาย นั่นก็ไม่ใช่เสียงอันศักดิ์สิทธิ์ รอยยิ้ม ก็เป็นเสียงอันไพเราะได้เช่นเดียวกัน…
การฝึกเจริญสติช่วยให้เรา รู้จักใช้ชีวิตอย่างลึกซึ้ง เช่นนั้น แล้วชีวิตเราจะไม่สูญเปล่า
ติช นัท ฮันห์
และฉากที่เหมือนว่าเราจะชอบมากที่สุด ก็คงจะเป็นตอนที่มีเด็กน้อยผู้หญิงมาถามท่านติช นัท ฮันห์ว่า ตอนนี้หมาที่รักของหนูตายไปแล้ว ทำอย่างไรจึงจะไม่เศร้าใจมาก ท่านจึงตอบไปว่า เธอลองมองที่ก้อนเมฆดูสิ หากเธอลองชอบเมฆสักก้อนแล้วสักพักมันก็หายไป แท้ที่จริงแล้ว เมฆก้อนนั้นมันไม่ได้สูญหายไปไหนหรอก หากแต่มันได้กลั่นตัวออกมาฝน ที่จะกลายเป็นน้ำชาในถ้วยของเธอ เมื่อเธอจิบชา ถ้วยชาใบนั้น ก็ย่อมที่จะมีก้อนเมฆที่เธอรักล่องลอยอยู่
มีช่วงหนึ่งที่ท่านติช นัท ฮันห์ ต้องเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเผยแพร่ศาสนา และทำการสอนศาสนา ไปฝึกเจริญสติ สมาธิภาวนาให้กับเหล่านักโทษในคุก มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจอยู่สองอย่าง คือ หนึ่ง เรื่องของการประท้วงศาสนา คือมีชายคนหนึ่งมาประท้วง ทำท่าไม่พอใจที่ท่านติช นัท ฮันห์ ไม่นับถือพระเจ้า(ชายผู้นั้นน่าจะนับถือศาสนาคริสต์ เพราะถือ Holy Bible อยู่ในมือ) ไปนับถือพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นอะไรที่เรามองว่า แม้แต่ในประเทศเสรีภาพอย่างสหรัฐอเมริกาเอง การยืนหยัดเพื่อนำอุดมการณ์ของตน โดยไม่เปิดกว้างต่อเรื่องศาสนาอื่นๆก็ยังมีอยู่ มีหญิงสาวมาร่วมปกป้องท่านติช นัท ฮันห์ และเหล่าคณะไว้ ทำให้เรื่องและเหตุการณ์ไม่บานปลาย สองคือ การกลับไปบ้านของท่านภิกษุณีผิวดำคนหนึ่ง การพบกันของเธอและพ่อที่ไม่ได้เจอกันมานาน(ฉากนั้นทำให้เราต่อมน้ำตาแตกมาก เป็นคนที่ Sensitive เรื่องครอบครัวมาก) เธอพยายามสอนให้พ่อของเธอรู้จักการเจริญสติภาวนา มีอยู่กับปัจจุบัน โดยการทำสมาธิอย่างง่ายๆคือ หายใจเข้า และหายใจออก แต่กลับเป็นอีกฉากหนึ่งที่เราดูแล้วเราน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว คือมันอิ่มเอมใจมากอย่างบอกไม่ถูกเลย…
ความสุขของหนังสารคดีเรื่องนี้ อาจจะไม่ได้ดำเนินเรื่องแบบหวือหวา ทำให้เราตื่นตาตื่นใจ ค่อนข้างจะไปทางง่วงหาวหนาวนอนเสียด้วยซ้ำ แต่เรากลับมองว่า หนังเรื่องนี้ดำเนินเรื่องโดยการใช้คนแต่ละคน แต่ละสถานที่เป็นตัวดำเนินเรื่องโดยไม่จำเป็นต้องใช้ท่านติช นัท ฮันห์ เป็นคนดำเนินเรื่องหลัก หากแต่เป็นการมองไปถึงผู้คนที่เกี่ยวข้องในหมู่บ้านพลัม การมีชีวิตอยู่อย่างกับการค้นหาสัจธรรม สิ่งที่เป็นจริงของหลักธรรมชาติ เป็นธรรมะที่เรียบง่าย หนังใช้การบรรยายเนื้อเรื่องโดย เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ (นักแสดงจากบท ชอร์ล็อค โฮล์มส์ ในซีรีส์เรื่อง Sherlock Holmes และ พระเอกชื่อดังจากภาพยนตร์เรื่อง Doctor Strange) ที่ฟังแล้วเคลิบเคลิ้ม มีความสุขในทุกๆขณะการดำเนินเรื่องเป็นอย่างดี
ในยุคที่ปัจจุบัน เรามักจะเจอแต่ความวุ่นวายอยู่เสมอ ตัวหนังเองก็ไม่ได้เน้นหนักไปถึงเรื่องวัตรปฎิบัติของผู้คนที่อยู่ในบ้านพลัมเสียแต่อย่างเดียว หากแต่หนังพยายามทำให้เรา(คนดู) มองให้เห็นถึงทำนองแห่งปัจจุบันขณะ การระลึกตื่นรู้ การมีสติจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราทำ ซึ่งแน่นอนมักจะเป็นสิ่งที่เราทำได้ค่อนข้างยากในปัจจุบันนี้ ยิ่งสังคมที่ค่อนข้างจอแจ มีแต่เรื่องให้ปวดหัวไม่เว้นแต่ละวัน การลองมาตั้งสติ นึกรู้อยู่กับในเรื่องปัจจุบัน ละทิ้งอดีต เพราะมันผ่านพ้นไปแล้ว และอนาคตเองก็ยังมาไม่ถึง การอยู่กับปัจุบันขณะ และทำให้เห็นว่าสติและการระลึกรู้นั้น สำคัญมากแค่ไหน…
ความสุขในบางที่ อาจจะเกิดจากการที่เรา “หยุดวิ่ง” หรือมัวแต่มองหาสิ่งที่อยู่นอกกายเรา … เพียงแต่เราลอง “เดิน” สักนิด ชะลอความเร็วในการใช้ชีวิตลงสักหน่อย เพื่อทำให้เรามองเห็นคุณค่าของตัวเรา สิ่งที่ทำให้เราสามารถสร้างความสุขได้ดีที่สุดไม่ได้ไกลจากไหนเลย นั่นก็คือ “ตัวเรา” นั่นแหละ เพียงแค่นี้ เราก็จะมองเห็นธรรมชาติอันแสนงดงาม และความสุขก็จะเกิดขึ้นได้เองค่ะ : )
Leave a Review